คลายเครียดด้วย.....ละครไทย (ตอน 2)

 

      หลังจากตอนที่แล้ว เราทุกคนได้ทำความรู้จักกับพระเอก นางเอก อันเป็นคาแรกเตอร์อมตะนิรันดร์กาลของละครไทยยุคคลาสสิคกันไปพอสมควรแล้ว หลายท่านที่ได้อ่านก็มักจะมีข้อคิดเห็นเสริมข้อมูลในด้านต่างๆมากมาย ซึ่งผู้เขียนเองเห็นด้วยและขอบคุณเป็นอย่างมาก วันนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักกับนางร้ายหรือนางอิจฉาและพระโกงหรือตัวร้ายที่ต้องรับบทหนักในชีวิตจริงหลังละครออนแอร์ นั่นคือ ผจญเปลือกทุเรียนและสายตาเคียดแค้นของแม่ค้าแม่ขายในยามที่เดินตลาดสดกัน.....


      S  13205525เริ่มกันด้วย นางอิจฉา บทบาทนี้สำคัญมากในละครทุกเรื่อง ชนิดที่ว่าไม่มีไม่ได้ นางร้ายต้องสวย แต่งหน้าจัด แต่งตัวหวาบหวิวเล็กน้อย ที่ขาดไม่ได้เลยคือ ต้องพูดเสียงสูงและกรี๊ดแบบไม่ธรรมดา แต่ต้องกรี๊ดสนั่น ตามด้วยการเป็นนักตบขั้นเทพ เอะอะเงื้อมือใส่ฝ่ายตรงข้ามตลอดเวลา ฝ่ายตรงข้ามในที่นี้ก็มิใช่ใคร นางเอกผู้อ่อนแอ อ่อนหวาน และอ่อนไหวของเรานั่นเอง นางร้ายสุดสวยของเราจะต้องคำสาปชนิดหนึ่งเหมือนกันทุกคน คือ หลงรักพระเอก แบบหัวปักหัวปำ พระเอกไม่รัก ผลักใส ด่าทอขนาดไหน เธอจะไม่หวั่นและจะรักเพียงชายคนนี้ ละครหลายเรื่องเหลือเกินที่ไม่มีคำตอบให้ผู้ชมว่า ทำไมนางร้ายคนนี้จึงรักพระเอกขนาดที่ยอมตายถวายชีวิตได้ ผู้ชมแบบเราก็คิดหาคำตอบให้ตัวเองกันไปต่างๆนานา แต่ก็เข้าใจตรงกันว่า “รักมาก”... นางร้ายที่สมบูรณ์แบบเธอจะต้องเป็นนักวางแผน คิดแผนร้ายที่ใครๆก็รู้ทัน ยกเว้นพระเอกและนางเอกซึ่งไม่เคยรู้เท่าทันแผนการณ์นั้นแม้แต่ครั้งเดียว นางร้ายของไทยจะมี คาแรกเตอร์ประจำตัว คือ การยิ้มมุมปาก พร้อมกรอกตาเป็นเลขแปดในยามที่แผนการที่เธอวางไว้สัมฤทธิ์ผล และจุดจบของเธอถ้าไม่เป็นบ้า เสียสติ ก็จะเป็นแนวของการกลับตัวกลับใจเป็นคนดีหลังจากพ่ายแพ้อย่างยับเยิน


      มาถึงบทบาทสำคัญอีกบทบาทหนึ่ง...ตัวร้าย หรือตัวโกง ฝ่ายชาย บทนี้มีคาแรกเตอร์หลักๆอยู่ 2 แบบ คือ แบบแรกมาในมาดของซาตานในคราบเทพบุตร เขาจะมาในรูปแบบของชายแสนดีที่หลงรักนางเอก เฝ้าคอย00112211เอาใจ ห่วงใยไม่เคยห่าง แต่ในใจจะหวังร้ายลึกๆ ผ่านแววตาและเสียงของความคิดที่ทะลุจอออกมาเฉลยให้เรารู้ ภาพที่แสนดีจะจางหายไป และเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงในช่วงกลางเรื่อง เมื่อนางเอกแสดงออกชัดเจนว่ารักพระเอก เขาคนนี้จะแสดงตัวตนของจอมวางแผนที่เกือบ 100 % แผนการนั้นมุ่งหวังที่การครอบครองนางเอกผู้แสนซื่อ เมื่อเขาคิดแผนการได้จะมีอาการอย่างหนึ่งบอกท่านผู้ชม คือ รอยยิ้มสุดเหี้ยม พร้อมหรี่ตาข้างหนึ่งลงด้วยความมุ่งร้าย และหันข้าง 45 องศา กล้องก็จะแพนตามและภาพจะตัดไป

 

     00112212 ...แบบที่สอง เขาจะเป็นคนที่มีความแค้นกับพระเอกมาแต่หนหลัง แต่ผู้กำกับจะแอบทรมานเราในจุดนี้ โดยการไม่ยอมเฉลยว่าความแค้นนั้นมันคืออะไร จนท้ายเรื่องนั่นแหละถึงจะมาเฉลยว่า มันคือ ความเข้าใจผิด (แหม...บางเรื่องเข้าใจผิดกันจนลูกโตก็มี) คาแรกเตอร์ของเขาคนนี้จะเป็นคนใจร้อน ขี้โวยวาย อันธพาลนิดๆ และเมื่อเขาทั้งสองคนไปหลงรักผู้หญิงคนเดียวกัน และเข้าใจผิดตลอดมาว่าผู้หญิงคนนั้นรักตัวเอง จากนั้นตัวร้ายของเราจะเข้าสู่โหมดด้านมืด และวางแผนฉุดคร่ากระทำชำเรานางเอกผู้แสนดี อ๊ะๆ ทุกท่านไม่ต้องตกใจ เพราะทุกครั้งที่นางเอกจะถูกกระทำ พระเอกของเราก็จะมาช่วยไว้ทันไม่ว่าตอนนั้นพระเอกของเราจะทำอะไรอยู่จนสุดหล้าฟ้าเขียวก็ไม่ใช่ปัญหา ตอนจบของตัวร้ายส่วนมาก น่าจะ 85 % จะเสียชีวิต ที่เหลือนิดหน่อย ก็จะพิการไม่ก็ยอมแพ้แบบรีบปิดฉาก เพราะเวลาไม่มีแล้ว ที่ผ่านมามีละครบางเรื่องโหดร้ายต่อคนดูมา ด้วยการไม่ให้รู้จุดจบของตัวร้าย คือหายไปเฉยๆเลย อาจจะเพราะหมดเวลาการออกอากาศหรือไรก็มิอาจทราบ


      แต่ให้รู้ไว้เลยว่า จะเจอตัวร้ายขั้นเทพขนาดไหน สุดท้ายส่วนมากละครไทยจะจบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง ทิ้งท้ายด้วยฉากหวานจนเลี่ยน แต่ผู้เขียนทราบว่าหลายท่านอินตามถึงขั้นจิกหมอนกระจายมาแล้วก็มีไม่น้อย รวมถึงร้อยทั้งร้อยของละครจะต้องจบด้วยฉากที่พระเอกนางเอกต้องยืนกอดกัน จับมือกัน และมีประโยคคลาสสิคว่า “จบบริบูรณ์”


      บทความทั้งสองตอนที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนมิได้มีเจตนาจะว่ากล่าวหรือดูถูกละครบ้านเราแต่อย่างใด เพราะขณะที่เขียนบทความนี้ ผู้เขียนเองก็ยังติดละครและดูละครไทยอยู่ เพราะทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้นมันได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของวงการละครบ้านเราไปเสียแล้ว หากจะเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด คงขัดกับอารมณ์และความรู้สึกที่อยากจะเห็นตัวละครต่างๆ โลดแล่นในจอตามที่ควรจะเป็นและเคยเป็น แต่การดูแล้วเดาได้ก่อนที่ตัวละครจะนำเสนอ หลายครั้งสร้างเสียงหัวเราะให้ผู้ชมได้ แม้ละครเรื่องนั้นจะซีเรียสขนาดไหน จึงเป็นที่มาของบทความทั้งสองตอนนี้......”จบบริบูรณ์”

 

กนกวรรณ ยิ้มจู
นักประชาสัมพันธ์จุฬาฯ