“ความสุข ความทรงจำวันรับปริญญาที่จุฬาฯ”
วันแห่งความภูมิใจในชีวิต จากนิสิตก้าวสู่บัณฑิตใหม่
รับปริญญาตราตรึงตลอดไป เป็นภาพจำรำลึกไว้ในอุรา
ความพากเพียรมุ่งมั่นคือคำตอบ ผ่านการสอบจนสำเร็จการศึกษา
ยินดียิ่งกับชีวิต “บัณฑิตจุฬาฯ” ก้าวที่กล้าอนาคตที่งดงาม
พิธีพระราชทานปริญญาบัตร เป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่เกิดขึ้นในรั้วจามจุรีเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนกรกฎาคม เหล่าบัณฑิตจุฬาฯทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษานับหมื่นคนต่าง รอคอยวันนี้ด้วยใจที่จดจ่อ เพราะเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่จะได้สวมเสื้อครุยจุฬาฯ เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่ามกลางครอบครัวและ ญาติมิตรที่มาร่วมแสดงความยินดีกับบัณฑิตอย่างอบอุ่นและชื่นมื่น หลายคนเดินทางไกลมาจากต่างจังหวัด เพื่อร่วมชื่นชมความสำเร็จของลูกหลานในวันรับปริญญาที่จุฬาฯ นับเป็นภาพความสุขความทรงจำอันประทับใจที่บัณฑิตจุฬาฯทุกคนจะจดจำไปตราบนานเท่านาน
ภาพที่เราพบเห็นจนชินตาในวันรับปริญญาที่จุฬาฯ คือบรรยากาศการแสดงความยินดีกับบัณฑิตจุฬาฯที่เป็นไปอย่างคึกคัก ตั้งแต่วันซ้อมรับปริญญา วันถ่ายภาพหมู่ และวันรับพระราชทานปริญญาบัตร เสียงร้องเพลงสลับกับเสียงบูมคณะของน้องๆนิสิตปี ๑ ดังกึกก้องเป็นระยะๆ อย่างพร้อมเพรียง เหล่าบัณฑิตทั้งชายและหญิงสวมเสื้อครุยจุฬาฯที่สง่างาม มีช่างภาพประจำตัว พร้อมกล้องดิจิทัลชั้นดีทำหน้าที่บันทึกภาพบัณฑิตในอิริยาบถต่างๆ อย่างใกล้ชิดชนิดไม่คลาดสายตา ช่อดอกไม้ ตุ๊กตา และลูกโป่ง รูปการ์ตูนน่ารัก เป็นของที่ระลึกยอดนิยมที่ญาติสนิทมิตรสหายมักจะซื้อหามาแสดงความยินดีกับบัณฑิต บริเวณฟุตบาทรอบรั้วจุฬาฯจึงมีพ่อค้าแม่ค้าจำนวนมากนำดอกไม้และของที่ระลึกต่างๆมาวางขาย ทั้งสองฝั่งถนนพญาไท
เป็นประจำทุกปีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ขอความร่วมมือบัณฑิตงดเว้นการประดับดอกไม้บนเสื้อครุยโดยเด็ดขาด รวมทั้งการประดับดอกไม้บนศีรษะบัณฑิต โดยให้เหตุผลว่าเพราะเสื้อครุยจุฬาฯเป็นเสื้อครุยพระราชทาน มีพระเกี้ยวศิราภรณ์ประดับบนพระมหาพิชัยมงกุฎประดับอยู่ การแต่งกายชุดครุยไม่ว่าอยู่ในอิริยาบถใด จึงควรกระทำด้วยความสุภาพ นอกจากนี้จุฬาฯยังรณรงค์ให้มีการมอบบัตรอวยพรเพื่อแสดงความยินดีแก่บัณฑิตแทนการมอบช่อดอกไม้ราคาแพง ซึ่งเป็นการสร้างค่านิยมใหม่ให้แก่สังคมไทยอีกด้วย
ในปีนี้พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาฯ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๓ – ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๗ โดยเปลี่ยนสถานที่จัดงานจากหอประชุมจุฬาฯ ซึ่งปิดปรับปรุงครั้งใหญ่ มาจัดที่อาคารเฉลิมราชสุดากีฬาสถาน โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่ออาคาร ทั้งนี้มหาวิทยาลัยได้จำลองเวทีและสร้างบรรยากาศภายในให้เหมือนหอประชุมจุฬาฯ มากที่สุด รวมถึงทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพิธีพระราชทานปริญญาบัตรต่างทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ เพื่อให้พิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ เป็นไปด้วยความราบรื่นและเรียบร้อยเช่นเดียวกับทุกปีที่ผ่านมา
“ลาแล้วจามจุรีที่เคยเห็น มิตรดีที่เจ้าเป็น ได้ร่มเย็นทุกเสมอหน้า
จากไปใจหายจากลา โอ้ใครจะมาปลอบใจ มิใช่จะร้างห่างไกล
ถึงตัวจะจากไป สัมพันธ์ทางจิตใจ จะไกลหรือใกล้ใจอยู่ด้วยเอย”
บทเพลง “ลาแล้วจามจุรี” คำร้องโดยแก้ว อัจฉริยะกุล ทำนองโดยเอื้อ สุนทรสนาน จะถูกขับขานอีกครั้งโดยวงดนตรีซียูคอรัส ก่อนเริ่มพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ที่อาคารเฉลิมราชสุดากีฬาสถาน ซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจบัณฑิตใหม่ว่าแม้จะจบการศึกษาจากจุฬาฯ และรั้วจามจุรี แต่สายใยสัมพันธ์ทางใจยังผูกพันอยู่คู่จุฬาฯตลอดไป
สุรเดช พันธุ์ลี
หัวหน้ากลุ่มภารกิจสารนิเทศ ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ