ย้อนอดีต....“โรงหนังรำลึก”


      0012360ทุกคนย่อมมีประสบการณ์ประทับใจที่ตราตรึงไว้ในความทรงจำ ช่วงเวลาแห่งความสุขไม่รู้ลืมของใครหลายคนเกิดขึ้นที่โรงภาพยนตร์หรือโรงหนัง ซึ่งเป็นจุดนัดพบของบรรดาคนรักหนังผู้แสวงหาความบันเทิงจากภาพยนตร์ไม่ว่าจากชาติหรือภาษาใด ช่วงเวลากว่า ๒ ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นที่ผู้ชมได้มีโอกาสสัมผัสกับโลกแห่งจินตนาการไม่มีที่สิ้นสุดจากการดูหนังในโรงหนัง เป็นช่วงเวลาที่เราได้ปลดปล่อยตัวเองจากชีวิตจริงสู่ความบันเทิงบนแผ่นฟิล์ม โรงหนังจึงเป็นยิ่งกว่าสถานที่ฉายหนัง แต่ยังเป็นแหล่ง พักกายพักใจชั้นดีที่พร้อมสร้างความสุขความทรงจำที่ประทับใจไปนานแสนนาน


      แม้ว่ากาลเวลาจะนำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่ทุกสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ ไม่เว้นแม้แต่โรงหนัง ก็ตาม แต่เชื่อแน่ว่ายุครุ่งเรืองของโรงหนังขนาดใหญ่ในอดีตที่ปัจจุบันเป็นเพียงภาพความทรงจำให้รำลึกถึง จะไม่มีวันลบเลือนจากใจนักดูหนัง และจะถูกเล่าขานสู่คนรุ่นต่อไปไม่สิ้นสุด


      0012361ภาพความทรงจำเมื่อวันวานเกี่ยวกับโรงหนังที่ยังจำได้เสมอคือความยิ่งใหญ่ของโรงหนังในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนที่นั่งในโรงหนังที่มีจำนวนมากนับพันที่ โรงหนังพระโขนงเธียเตอร์ได้ชื่อว่าเป็นโรงหนังใหญ่ที่สุดมีจำนวนที่นั่งกว่า ๓,๐๐๐ ที่นั่ง สมัยก่อนจำนวนโรงหนังยังมีไม่มากเหมือนในสมัยนี้ การหาความบันเทิงนอกบ้านจากการดูหนังในโรงหนังจึงเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ เพราะในยุคนั้นยังไม่มีวีดีโอ วีซีดีหรือดีวีดีที่สามารถเปิดดูหนังเรื่องโปรดได้ทุกเมื่อ โรงหนังแต่ละโรงนอกจากจะมีขนาดใหญ่แล้ว ทำเลที่ตั้งของโรงหนังยังมีลักษณะเป็นโรงหนังแบบ stand alone ที่ตั้งอยู่เดี่ยวๆ ไม่ได้อยู่ในห้างสรรพสินค้าเหมือนเช่นในปัจจุบัน ในอดีตหนังที่ฉายตามโรงหนังชั้น ๑ จะฉายเพียงไม่กี่โรงเท่านั้นและยืนระยะการฉายนานนับเดือน หนังยอดนิยมทั้งหนังไทยและเทศจะมีผู้ชมทั้งเด็ก ผู้ใหญ่และวัยรุ่นหลั่งไหลเข้าคิวจองตั๋วล่วงหน้า ตลอดจนซื้อตั๋วหนังกันอย่างคึกคัก ราคาค่าตั๋วหนังสมัยก่อนถือว่าถูกแสนถูก ที่หน้าโรงหนังมีคัทเอาท์หนังขนาดใหญ่ยักษ์พร้อมภาพดารานำแสดง สร้างความน่าสนใจและเป็นที่จดจำ ก่อนวันฉายจริงจะมีการฉายหนังรอบพิเศษหรือรอบปฐมทัศน์ให้ผู้ชมได้ชมก่อนใคร หนังไทยที่มีดารานักร้องชื่อดังนำแสดงจะเป็นที่คลั่งไคล้ของผู้ชมมากเป็นพิเศษ จนถึงกับนำกล้องถ่ายรูปมาบันทึกภาพดาราคนโปรดบนจอหนังก็มีมาแล้ว


      สิ่งที่พบเห็นจนชินตาก่อนเข้าสู่โรงหนัง คือโปสเตอร์หนังขนาดใหญ่และโชว์การ์ดภาพตัวอย่างหนังเรียกน้ำย่อยจากผู้ชมก่อนจะดูหนังจริง ทั้งหนังที่ฉายวันนี้ โปรแกรมหน้า และเร็วๆนี้ หน้าช่องขายตั๋วหนังมีใบปิดหนังขนาดเล็ก(แฮนด์บิล) วางแจกเป็นตั้งๆเพื่อประชาสัมพันธ์หนังเรื่องต่างๆ บริเวณหน้าโรงหนังมีพ่อค้าแม่ขายจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม และขนมขบเคี้ยวนานาชนิด ที่ขาดไม่ได้คือข้าวโพดคั่ว (Pop Corn) หอมกรุ่นเย้ายวนใจ ซึ่งเป็นอาหารที่คู่โรงหนังมาช้านานจวบจนทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งอาชีพที่แฝงตัวอยู่ใกล้ห้องขายตั๋วหนังหน้าโรงหนังในช่วงวันเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดในเทศกาลสำคัญ นั่นคือคนขายตั๋วผีที่อาศัยกระแสความนิยมของหนังดังนำตั๋วหนังมาขายในราคาสูงกว่าปกติ แม้จะต้องจ่ายแพงขึ้นอีกนิด แต่ก็มีผู้ยอมจ่ายเพราะไม่อยากพลาดชมหนังที่ตั้งใจเมื่อมาถึงหน้าโรงหนังแล้ว


      0012362ชื่อโรงหนังในอดีตทั้งโรงหนังชั้น ๑ และโรงหนังชั้น ๒ มีทั้งโรงหนังที่ชื่อเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นที่จดจำได้ง่าย ชื่อโรงหนังหลายโรงมีคำว่า”เฉลิม” นำหน้า เช่น เฉลิมไทย เฉลิมกรุง เฉลิมบุรี เฉลิมเขตร์ เฉลิมธานี ฯลฯ ชื่อโรงหนังที่มาจากชื่อบริษัทหนังในฮอลลีวู้ด เช่น พาราเมาท์ เมโทร เซ็นจูรี่ วอร์เนอร์ เอ็มจีเอ็ม โคลัมเบีย ฯลฯ ชื่อเมืองหลวงและเมืองสำคัญๆของประเทศต่างๆ เช่น ปารีส เอเธนส์ ลอนดอน วอชิงตัน นิวยอร์ค เท็กซัส ฯลฯ โรงหนังยอดนิยมหลายโรงตั้งอยู่ในแหล่งช็อปปิ้งชื่อดังในแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นย่านวังบูรพา ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงหนังแกรนด์ คิงส์ ควีนส์ ย่านสยามสแควร์ ซึ่งมีสามโรงหนังขนาดใหญ่ของค่ายเอเพ็กซ์ ได้แก่ สยาม ลิโด สกาล่า


      จากโรงหนังในอดีตในรูปแบบ stand alone สู่โรงหนังในยุคมินิเธียเตอร์หรือโรงหนังขนาดเล็กหลายๆโรงที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า จนมาถึงโรงหนังมัลติเพล็กซ์เช่นในปัจจุบัน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ น่าจดจำของโรงหนังในเมืองไทย โรงหนังในอดีตทั้งโรงหนังชั้น ๑ และโรงหนังชั้น ๒ โรงแล้วโรงเล่าทยอยปิดตัวไปตามกาลเวลา เหลือไว้แต่ภาพความทรงจำในอดีตให้หวนระลึกถึงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีโอกาสได้ดูหนังในโรงหนังในอดีต คงจะรู้สึกภูมิใจไม่น้อยที่ครั้งหนึ่งได้เคยสัมผัสกับประสบการณ์ “ตำนาน” โรงหนังในเมืองไทย

สุรเดช พันธุ์ลี
หัวหน้ากลุ่มภารกิจสารนิเทศ
ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ