Print
Hits: 36134

แก้ขยะล้นเมือง...เริ่มได้ที่ตัวเรา (1)

 

      cu 0145644ปัญหาขยะล้นเมืองถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย และเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีมานาน ข้อมูลจากกรมอนามัยพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะเกิดขึ้นประมาณ 41,532 ตันต่อวัน หรือกว่า 15 ล้านตันต่อปี โดยร้อยละ 30 เป็นขยะที่นำไปรีไซเคิลได้ แต่กลับมีการรีไซเคิลนำมาใช้ประโยชน์จริงเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนควรจะช่วยกันแก้ไข ก่อนจะมีปัญหาอื่นๆ ตามมาดังเช่นเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะที่เพิ่งเกิดขึ้น


      นอกจากนี้ วันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมาเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก จึงเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะหันมาตระหนักและลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและโลกที่เราต้องอาศัยอยู่ต่อไปตลอดชีวิต โดยเริ่มจากเรื่องใกล้ๆ ตัว คือ “ขยะ” ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราทุกคนต่างมีส่วนในการสร้างปัญหานี้ขึ้นมา


      หนึ่งในแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ ซึ่งทุกคนสามารถทำได้และทำได้ทันทีคือ “การแยกขยะก่อนทิ้ง” ทั้งการคัดแยกตั้งแต่ในครัวเรือนหรือการทิ้งในที่ต่างๆ ซึ่งหลายๆ คนคงเคยเห็นถังขยะหลากสีที่ตั้งเรียงกันอยู่ และเกิดอาการทิ้งมั่วเพราะไม่แน่ใจว่าสีไหนทิ้งอะไร แล้วที่ถูกต้องควรจะทิ้งอย่างไร คงต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าขยะโดยทั่วไปสามารถแบ่งได้ 4 ประเภท คือ


      1.ขยะย่อยสลาย คือขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็วตามธรรมชาติ เช่น เศษอาหาร พืช ผัก ผลไม้ ใบไม้ ฯลฯ ขยะประเภทนี้ทิ้งในถังสีเขียว
      2.ขยะรีไซเคิล คือขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ มักเป็นขยะแห้ง เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว กระป๋องเครื่องดื่ม ฯลฯ ทิ้งในถังสีเหลือง
      3.ขยะทั่วไป คือขยะย่อยสลายยากและไม่คุ้มค่ากับการนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น พลาสติกหรือโฟม ที่เปื้อนเศษอาหาร ถุงขนม ห่อลูกอม ฯลฯ ทิ้งในถังสีน้ำเงิน
      และ 4.ขยะอันตราย คือขยะที่เป็นพิษ มีการปนเปื้อนหรือมีองค์ประกอบของวัตถุที่อันตรายต่อคนและสิ่งแวดล้อม เช่น กระป๋องสีสเปรย์ แบตเตอรี่ ยาฆ่าแมลง หลอดฟลูออเรสเซนต์ ฯลฯ ทิ้งในถังสีแดง


      บางคนอาจจะคิดว่าแค่แยกขยะจะช่วยอะไรได้มากมาย แต่ความจริงแล้วการแยกขยะก่อนทิ้งมีประโยชน์อย่างมาก เพราะเป็นการนำส่วนที่ยังใช้ประโยชน์ได้กลับมาใช้ใหม่ เช่น นำไปรีไซเคิล ผลิตปุ๋ย ฯลฯ ประหยัดทรัพยากรในการผลิตใหม่ ช่วยลดปริมาณขยะจริงที่ต้องเก็บและทำลาย ประหยัดงบประมาณของประเทศ ขยะอันตรายก็ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี ลดปัญหาหรือมลพิษต่างๆ ที่จะเกิดตามมา


      สำหรับเรื่อง “ขยะ” ยังไม่จบ ครั้งหน้าจะขอแนะนำการจัดการขยะตามหลัก 3Rs ซึ่งเป็นเทคนิคที่จะช่วยลดปริมาณขยะและทำให้การใช้ทรัพยากรคุ้มค่าที่สุด

อุมาพร โกมลรุจินันท์
เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ จุฬาฯ