Print
Hits: 4840

ประสบการณ์การตัดข่าวหนังสือพิมพ์ครั้งสุดท้าย


สุรเดช พันธุ์ลี
หัวหน้ากลุ่มภารกิจสารนิเทศ ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ


      new 0123“หนังสือพิมพ์” เป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนในวงกว้างในทุกระดับการศึกษาและทุกสาขาอาชีพ เนื้อหาและคอลัมน์ต่างๆในหนังสือพิมพ์มีให้เลือกอ่านตามความสนใจ ทั้งข่าวการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กีฬา บันเทิง สตรี ฯลฯ ปัจจุบันหนังสือพิมพ์มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการนำเสนอสู่รูปแบบหนังสือพิมพ์ออนไลน์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์


      ในงานประชาสัมพันธ์ การตัดข่าวหนังสือพิมพ์รายวัน เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญประจำวันของผู้ปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์หรือนัก PR เพื่อประเมินผลความสำเร็จในการทำงานประชาสัมพันธ์ที่ผ่านมาว่ามีข่าวได้รับการเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆมากน้อยเพียงใด การตัดข่าวหนังสือพิมพ์ยังเป็นการตรวจติดตามทิศทางข่าวของหน่วยงานทั้งในด้านบวกและด้านลบ รวมถึงข่าวจากหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอผู้บริหารสำหรับเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการดำเนินงานต่างๆต่อไป


      จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในการทำงานประชาสัมพันธ์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภารกิจหนึ่งซึ่งจำได้แม่นยำในการทำงานวันแรกที่แผนกประชาสัมพันธ์ จุฬาฯ (งานสารนิเทศ จุฬาฯ และศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ ในปัจจุบัน) นั่นคือการตัดข่าวหนังสือพิมพ์ ก่อน ๗ โมงเช้าของทุกวัน อาบังที่ขายหนังสือพิมพ์จะนำหนังสือพิมพ์รายวัน ๑๔ ฉบับมาส่งที่จุฬาฯ หนังสือพิมพ์ทั้ง ๑๔ ฉบับจะถูกแบ่งสรรให้บุคลากรในหน่วยงานช่วยกันตัดข่าว ซึ่งหน้าที่ในการตัดข่าวไม่ได้จำกัดที่นักประชาสัมพันธ์เท่านั้น แม้แต่ช่างภาพ หรือบุคลากรในตำแหน่งอื่นก็ร่วมด้วยช่วยกันทำงานนี้จนกลายเป็นภารกิจประจำวันที่จะต้องทำทุกๆเช้า หลังจากตัดข่าวแล้ว ข่าวทั้งหมดจะถูกแปะด้วยกาวลาเท็กซ์ลงบนกระดาษรีไซเคิล ก่อนที่จะนำข่าวมารวบรวมและคัดแยกเป็นข่าวประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าวการศึกษา ข่าววิชาการ ข่าวบุคคล ข่าวนิสิต ข่าวสังคม และข่าวมหาวิทยาลัยอื่นๆ จากนั้นจึงนับจำนวนข่าว และจดบันทึกจำนวนข่าวในใบปะหน้าข่าวตัดประจำวัน ส่งให้หัวหน้าหน่วยงานลงนามเพื่อนำเสนออธิการบดีและผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง การตัดข่าวในแต่ละวันจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๒ ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่ ๗ โมงเช้า และเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ ๙ โมงของทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ซึ่งผู้รับผิดชอบการตัดข่าวต้องเดินทางมาที่จุฬาฯเพื่อทำหน้าที่ต่างๆเหล่านี้เพียงคนเดียว การตัดข่าวในวันหยุดจึงต้องใช้เวลาในการตัดข่าวและประมวลผลข่าวที่นานขึ้น แต่ทุกคนก็พร้อมทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายนี้อย่างเต็มที่และเต็มใจ เพื่อให้ข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์แล้วเสร็จ พร้อมนำเสนอผู้บริหารอย่างรวดเร็วทันเวลา


      การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่าเกิดขึ้นเสมอในการทำงาน การตัดข่าวหนังสือพิมพ์ก็เช่นกัน จากการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการตัดข่าวหนังสือพิมพ์กับการตัดข่าวแบบออนไลน์ผ่าน IQ News Clip ซึ่งเป็นบริการของสำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาฯ ทางกลุ่มภารกิจสารนิเทศ ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ ได้ทดลองใช้การตัดข่าวทั้ง ๒ รูปแบบควบคู่กันระยะเวลาหนึ่ง ในที่สุดจึงได้ตัดสินใจยกเลิกการตัดข่าวหนังสือพิมพ์ด้วยวิธีเดิมและเปลี่ยนมาใช้วิธีการตัดข่าวด้วย IQ News Clip


      วันเสาร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นวันสุดท้ายของการตัดข่าวหนังสือพิมพ์ทั้ง ๑๔ ฉบับด้วยปลายคัทเตอร์ บรรยากาศการตัดข่าวหนังสือพิมพ์ในวันสุดท้ายเป็นไปด้วยความเงียบงันและเชื่องช้ากว่าทุกครั้ง ด้วยความตั้งใจในการทำหน้าที่ตัดข่าวครั้งสุดท้ายนี้ให้ดีที่สุด เพื่อเก็บเกี่ยวความประทับใจ ก่อนที่จะเหลือไว้เพียงความทรงจำที่ดี


      แม้ว่าการตัดข่าวหนังสือพิมพ์ด้วยวิธีการซื้อหนังสือพิมพ์มาตัดข่าวจะใช้งบประมาณที่สูงกว่า และอาจไม่สะดวกสบายเหมือนการตัดข่าวแบบออนไลน์ที่ใช้เพียงปลายนิ้วกดหาข่าวที่ต้องการทางอินเทอร์เน็ตก็ตาม แต่การตัดข่าวหนังสือพิมพ์ด้วยวิธีนี้ ผู้ตัดข่าวต้องคอยตรวจตราหาข่าวต่างๆด้วยตนเองในหนังสือพิมพ์ทุกหน้า รวมทั้งต้องแปะข่าวบนกระดาษให้เรียบร้อยตามประเภทของข่าว ซึ่งช่วยเพิ่มความละเอียดถี่ถ้วนในการทำงานมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น การตัดข่าวด้วยวิธีนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันเป็นทีม ทำให้งานใหญ่ประสบความสำเร็จด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกคน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการทำงานประชาสัมพันธ์และงานในทุกวิชาชีพ