Print
Hits: 3526

ไข้เลือดออก...ภัยใกล้ตัวที่มากับฝน

 

      เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน หนึ่งในโรคประจำมีมักจะแพร่ระบาดมากในช่วงนี้ และเชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยได้รู้ฤทธิ์ของโรคนี้ด้วยตัวเองมาแล้ว นั่นคือ “โรคไข้เลือดออก” ซึ่งมีพาหะของโรคเป็นสัตว์โลกใกล้ตัวมนุษย์อย่างยุงลาย โรคนี้จึงถือเป็นโรคใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตเลยทีเดียว


      สำหรับสถานการณ์ไข้เลือดออกในไทยในปีนี้ สำนักระบาด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกที่พบจากทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 16 พฤษภาคม 2557 ว่ามี 6,420 ราย เสียชีวิต 4 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด 5 อันดับ คือ กรุงเทพมหานคร 1,137 ราย รองลงมาคือ นครศรีธรรมราช 265 ราย สงขลา 257 ราย สมุทรปราการ 248 ราย ชลบุรี 207 ราย และคาดการณ์ว่าทั้งปีจะมีผู้ป่วยไข้เลือดออกประมาณ 70,000 ราย โดยจะพบผู้ป่วยมากที่สุดในฤดูฝนคือช่วงเดือนมิถุนายน - กันยายน เนื่องจากน้ำฝนเป็นน้ำที่ยุงลายชอบวางไข่มากที่สุด และมีแหล่งน้ำขังหรือมีน้ำขังอยู่ตามที่ต่างๆ กลายเป็นแหล่งยุงลายวางไข่เพาะพันธุ์ได้ เมื่อจำนวนยุงลายเพิ่มมากขึ้น โอกาสกัดคนและแพร่ไข้เลือดออกก็เพิ่มขึ้นตามมาเช่นกัน


      ในการป้องกันโรคดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ประชาชนใช้วิธีป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ตามแหล่งน้ำสะอาด ซึ่งเป็นวิธีการลดจำนวนตัวยุงลายตัวแก่อย่างได้ผลดีที่สุด ตามกิจกรรม 5ป 1ข ได้แก่ ปิดฝาภาชนะกักเก็บน้ำทุกชนิด เปลี่ยนน้ำทุกๆ 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะกักเก็บน้ำ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ปฏิบัติเป็นประจำให้เป็นนิสัย และขัดภาชนะที่อาจมีคราบไข่ยุงเกาะอยู่ นอกจากนี้ยังควรป้องกันไม่ให้ยุงกัดด้วยการนอนในมุ้งและทายากันยุง หากมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก และไข้ไม่ลดลงภายใน 2 วัน ขอให้รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล เพราะหากได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ อย่างถูกต้อง จะป้องกันการเสียชีวิตจากโรคนี้ได้


      วิธีป้องกันเหล่านี้แม้อาจจะต้องใช้ความขยันอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปสามารถทำได้ จึงเป็นเรื่องที่ดีที่ทุกคนจะมาร่วมไม้ร่วมมือช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตัดวงจรของโรค เพื่อให้ตัวเรา รวมทั้งครอบครัวและชุมชนของเราปลอดภัยจากโรคร้ายนี้