ครอบครัวของฉัน

 

      35469“ครอบครัวของฉัน” หนึ่งในหัวข้อยอดฮิตอันดับต้นๆ ในการเขียนเรียงความของเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษา ซึ่งแทบจะทุกท่านเคยผ่านการเขียนเรียงความหัวข้อนี้มาแล้ว ถ้าจะย้อนความทรงจำในสมัยที่นั่งเขียนเรียงความเรื่องนี้ ก็คงจะไม่พ้นการบรรยายเรื่องในครอบครัวตนเองผ่านมุมมองของเด็กอายุราวๆ 7- 12 ปี....เคยคิดกันบ้างไหมว่าทำไมเรียงความหัวข้อนี้ จึงเป็นหัวข้อยอดฮิตของครูบาอาจารย์ทุกยุคทุกสมัย


      “ครอบครัวของฉัน” ในมุมมองของเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน โดยมากมันจะเป็นการเรียงร้อยข้อความผ่านความคิดที่ไร้การปรุงแต่งกลั่นกรองมาจากความเป็นจริงและความรู้สึกในใจ สิ่งที่ถ่ายทอดออกมานั้นสะท้อน สภาพครอบครัว ซึ่งแต่ละครอบครัวมีความแตกต่างกันในแต่ละด้านทั้งความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมของเด็กที่แสดงออกต่อเพื่อนร่วมชั้นเรียนหรือแม้กระทั่งกับครู อีกทั้งยังเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการดูแล อบรมนักเรียนแต่ละคนที่มาจากครอบครอบที่หลากหลาย ครูจะทราบได้ไม่ยากว่า ทำไมเด็กคนนี้มีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำไมเด็กคนนี้มีเอาแต่ใจตัวเอง ทำไมเด็กคนนี้มีภาวะทางอารมณ์ที่สมบูรณ์ คำตอบของคำถามเหล่านี้อยู่ในเรียงความหนึ่งหน้ากระดาษของลูกศิษย์ตัวน้อยๆทั้งสิ้น........แต่สิ่งที่เด็กๆแสดงความคิดผ่านตัวหนังสือไม่ว่าจะมาจากครอบครัวแบบไหน สิ่งที่แสดงได้ชัดเจนที่สุด คือ ความรักและความผูกพันธ์ของคนในครอบครัว แต่ละบ้านจะมีสิ่งนี้แฝงอยู่

      สุพัตรา สุภาพ (2540:26) ได้กล่าวว่า ครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดของสังคม เป็นหน่วยย่อยของสังคมที่มีความสัมพันธ์และร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เป็นสถาบันที่คงทนที่สุดและยังไม่เคยปรากฏว่า สังคมมนุษย์เป็นสังคมที่ไม่มีสถาบันครอบครัว เพราะมนุษย์ทุกคนต้องอยู่ในสถาบันครอบครัว เนื่องจากเป็นกลุ่มสังคมกลุ่มแรก ที่มนุษย์ทุกคนเจอ ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเติบโต และมีครอบครัวแยกออกมา ครอบครัวเป็นสถาบันแห่งแรกและแห่งสำคัญของสังคมในการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผน ซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานความประพฤติของครอบครัว ...เพราฉะนั้นอาจจะกล่าวได้ว่า ครอบครัว คือ หน่วยย่อยที่สุดของสังคม แต่ทรงอิทธิพลทางด้านความคิด การตัดสินใจและมุมมองในการใช้ชีวิตของคนในสังคม สังเกตได้ง่ายๆว่าคนที่มีปัญหาในชีวิตน้อย มักมาจากครอบครัวที่สมบูรณ์ ต้องยอมรับกันว่าการแข่งขันในทุกๆด้านและความเป็นสังคมเมืองในปัจจุบันทำให้ “ครอบครัวขยาย” ในสังคมไทยลดน้อยลงไปมาก และ “ครอบครัวเดี่ยว”มีเพิ่มมากขึ้น ระบบเครือญาติ และความเอื้ออาทรกันในครอบครัวใหญ่เริ่มลดน้อยลง ความห่างเหินจากการใช้ชีวิตในสังคมเมืองทำให้สมาชิกในครอบครัวมีเวลาให้กันน้อยลง ในระยะหลังสถิติการหย่างร้างเพิ่มขึ้น ครอบครัวประเภทคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวและคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวจึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ......ทั้งหมดทั้งหลายที่กล่าวมานี้ จะปรากฏในเรียงความจากปลายดินสอของนักเรียนตัวน้อยที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ครอบครัวจึงควรคำนึงถึงความอบอุ่นในครอบครัวที่จะหล่อหลอมให้ต้นกล้าทางความคิดเหล่านี้เจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์และงอกงาม พัฒนาสังคม ประเทศชาติของเราให้ก้าวข้ามอุปสรรคปัญหา และความขัดแย้งต่างๆไปได้อย่างสวยงาม.....

 

      -ขอขอบคุณข้อมูลจาก นางสาวอัจฉรา ล่ำสัน ครูอัตราจ้าง โรงเรียนวัดพระปรางค์วิริยะวิทยา
       หมวดวิชาสังคมศึกษา ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1- 6


กนกวรรณ ยิ้มจู
นักประชาสัมพันธ์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
02/05/57