อาหารดี & ดนตรีไพเราะ


     114337 “อาหารดี ดนตรีไพเราะ” ประโยคยอดฮิตของร้านอาหารต่างๆที่มีเสียงเพลงประกอบ เพื่อจุดมุ่งหมายที่จะดึงดูดลูกค้าให้แวะเวียนเข้ามาใช้บริการของร้าน แต่ใครจะรู้บ้างว่า ทำไมอาหารดีต้องมาเคียงคู่กับดนตรีไพเราะ นานมาแล้ว เคยมีผู้รู้กล่าวว่า เสียงเพลงจะทำให้อารมณ์ของเราผ่อนคลาย และส่งผลต่อการเจริญอาหารโดยไม่รู้ตัว
ร้านอาหารที่มีดนตรีประกอบ มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งร้านแนววัยรุ่นที่เน้นดนตรีสไตล์กระตุ้นอารมณ์ หรือเพลง “โดนๆ” ทันสมัย หรือจะเป็นร้านอาหารสไตล์ครอบครัวหรือร้านที่ใครก็สามารถเข้าไปใช้บริการได้ จะเน้นดนตรีสไตล์ Easy Listening หรือเพลงที่ฟังสบายๆ เข้าถึงผู้ฟังอย่างร่วมสมัย แนวเพลงให้อารมณ์เอนเอียงไปในทางเพลิดเพลิน เก่า ใหม่ คละเคล้ากันไปตามความต้องการของลูกค้า ไม่หวือหวาตามสมัยนิยมจนเกินไป

 
      ผู้ประกอบการร้านอาหารย่านศรีนครินทร์รายหนึ่ง ยกตัวอย่างการที่มีดนตรีในร้านว่า จากการสังเกตการณ์นั่งรับประทานอาหารของลูกค้าในช่วงที่มีเสียงดนตรี จะพบว่าลูกค้าใช้เวลาในการรับประทานนานขึ้น และมีความเพลิดเพลินไปกับเสียงเพลงและการเอนเตอร์เทนผู้ชมของนักร้องและนักดนตรี ทำให้ยอดการสั่งอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย บ่อยครั้งที่ลูกค้ามีความต้องการที่จะฟังเพลงที่ตนชื่นชอบหรือต้องการขึ้นไปร่วมสนุกกับเหล่านักดนตรี นั่นทำให้บรรยากาศในร้านคึกคัก สนุกสนานมากขึ้นเมื่อเทียบกับการเปิดเพลงจากเครื่องเล่นทั่วไป และบ่อยครั้งที่พบว่าทางร้านได้ “ลูกค้าประจำ” จากดนตรีมากกว่าอาหารเสียอีก โดยที่ร้านจะเลือกนักดนตรีที่เล่นเพลงแบบร่วมสมัยฟังได้ทุกเพศ ทุกวัย เน้นลูกค้าวัยทำงานหรือวัยกลางคน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของทางร้าน เพราะลูกค้ากลุ่มนี้กำลังในการใช้จ่ายจะสูงกว่า เมื่อเทียบกับลูกค้ากลุ่มอื่น


      นอกจากอาหารดี ดนตรีไพเราะแล้ว สิ่งที่ดึงดูดใจลูกค้าหรือผู้ใช้บริการไม่แพ้อย่างอื่น คือ การบริการและความใส่ใจของพนักงานในร้านทุกคน ที่จะทำให้ลูกค้าประจำมีเพิ่มมากขึ้น เพราะการได้ความภักดีจากลูกค้า สำคัญมากพอๆกับผลกำไรที่เจ้าของธุรกิจจะได้ นั่นแปลว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จในระยะยาว

 

                                                                                                              กนกวรรณ ยิ้มจู
                                                                                              นักประชาสัมพันธ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
                                                                                                                 02/05/57