คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด?
“คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด” หนึ่งในประโยคฮิตที่เผยแพร่อย่างรวดเร็วในสังคมออนไลน์เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้คนส่วนใหญ่จะไม่รู้ที่ไปที่มา ไม่รู้ว่าใครสำรวจ และไม่เชื่อว่าคนไทยจะอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัดจริง แต่ประโยคนี้ก็ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในความหมายประชดประชัน และเป็นมุกตลก กับ “ความขี้เกียจอ่าน” ของคนทั้งในสังคมออนไลน์และสังคมจริง จนมีวลีฮิต “ยาวไปไม่อ่าน” ตามมาติดๆ
แต่เมื่อเร็วๆ นี้ มีข้อมูลใหม่ที่น่าจะนำมาใช้สวนกลับประโยคฮิตนี้ได้ดี โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติได้เปิดเผยผลการสำรวจการอ่านหนังสือของประชากร ปี 2556 พบคนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงานเฉลี่ย 37 นาทีต่อวัน ซึ่งแน่นอนว่าถ้าคนไทยไม่ได้อ่านหนังสือช้าจนเกินไป ก็นับได้ว่าเกิน 8 บรรทัดไปมากทีเดียว และเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจเมื่อปี 2554 แล้ว พบว่าทุกกลุ่มวัยมีอัตราการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น และเกือบทุกวัยใช้เวลาอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มวัยเด็กมีอัตราการอ่านหนังสือสูงสุดถึงร้อยละ 95.1 รองลงมาคือ กลุ่มเยาวชน กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มวัยสูงอายุ ส่วนใหญ่อ่านจากรูปเล่มหนังสือเอกสารถึงร้อยละ 99.3 รองลงมาคืออินเทอร์เน็ต ร้อยละ 10.1 แท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน ร้อยละ 1.8
สำหรับประเภทหนังสือที่คนอ่านมากที่สุดคือ หนังสือพิมพ์ คิดเป็นร้อยละ 73.7 รองลงมาคือ วารสาร หนังสือที่ให้ความรู้ นิตยสาร หนังสือเกี่ยวกับศาสนา นวนิยาย การ์ตูนหนังสืออ่านเล่น และแบบเรียนตามหลักสูตร ทั้งนี้ การอ่านหนังสือในที่นี้ หมายถึง การอ่านหนังสือทุกประเภทนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงาน รวมการอ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ยกเว้น SMS หรือ E-mail (รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ที่เว็บไซต์สำนักงานสถิติแห่งชาติ www.nso.go.th และ www.facebook.com/tkparkclub)
อ่านผลการสำรวจก็คงทำให้หลายๆ คนใจชื้นขึ้นบ้างว่า แม้จะเป็นตัวเลขที่อาจจะไม่มากนัก แต่ก็แสดงว่าคนไทยรุ่นใหม่ยังไม่ทิ้งการอ่านหนังสือซะเลยทีเดียว แถมยังอ่านเพิ่มขึ้นอีกด้วย จึงเป็นแนวโน้มที่ดีที่ทั้งภาครัฐ สังคม และครอบครัวจะช่วยกันส่งเสริมการอ่านในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการปลูกฝังให้มีนิสัยรักการอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก เพื่อให้ตัวเลขอัตราการอ่านและการใช้เวลาในการอ่านของคนไทยสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะการอ่านหนังสือนอกเวลาประเภทต่างๆ ถือเป็นอีกหนึ่งงานอดิเรกที่ดีที่นอกจากจะช่วยให้ผ่อนคลายความเครียดจากการเรียนและการทำงานแล้ว ยังทำให้ผู้อ่านได้ความรู้รอบตัว ได้ฝึกการคิด สร้างเสริมจินตนาการ รวมทั้งได้ฝึกสมาธิ เพิ่มทักษะการใช้ภาษา ทั้งการอ่าน การเขียน การเรียบเรียงความคิด ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการนำไปใช้ในการเรียน การทำงาน หรือในชีวิตประจำวัน
อุมาพร โกมลรุจินันท์
เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ จุฬาฯ