ต้นไม้กับวัยเกษียณ

 

      107847ทุกปีในเดือนกันยายน เป็นเดือนที่จะสิ้นสุดปีงบประมาณของงานที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณของรัฐและเป็นเดือนแห่งการสิ้นสุดการทำงานอันยาวนานของบุคลากรหลายท่านขององค์กรในวัย 60 ปี หรือเทศกาลเกษียณอายุราชการที่เราๆท่านๆรู้จักกันดี หากมองในมุมมองของรุ่นน้อง อาจจะรู้สึกใจหายที่ผู้แก่กล้าด้านประสบการณ์การทำงานจะต้องหายไปจากที่ทำงาน แต่หากมองในมุมมองของผู้ที่ต้องเกษียณแล้ว จะพบว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของชีวิต....

 
      จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนเคยได้พูดคุยสนิทสนมกับคนวัยเกษียณหลายท่าน จะพบว่าในระยะแรกหรือประมาณ 1-2 เดือนของการที่ได้หยุดทำงาน คนวัยเกษียณมักมีความสุขและเพลิดเพลินกับการใช้ชีวิตในการท่องเที่ยว ดูแลบ้าน หรือทำกิจกรรมอื่นๆที่ได้วางแผนไว้ก่อนที่จะเกษียณ แต่หลังจากความตื่นเต้นเหล่านั้นจางหายไป สิ่งที่หลายคนได้รู้สึกโดยมาก มักจะเป็นความรู้สึกโดดเดี่ยวจากการที่ต้องอยู่คนเดียว ความเหงาจากการใช้ชีวิตในสังคมเมือง บางท่านถึงกับรู้สึกว่าตนเองไร้คุณค่า และลุกลามจนกระทั่งอาจเกิดโรคเครียดหรือโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้ ดังนั้น หลายหน่วยงานหรือองค์กร จึงจัดทำโครงการอบรม ผู้เกษียณอายุราชการ โดยมุ่งหวังให้ผู้ที่จะเกษียณอายุราชการ มีมุมมองในการใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่าง มีความสุข ซึ่งการอบรมจะแนะนำให้คนวัยเกษียณทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ ทำงานบ้าน ทำสิ่งประดิษฐ์ เข้าชมรมออกกำลังกาย ฯลฯ แต่ในที่นี้ ผู้เขียนจะยกตัวอย่างกิจกรรมยอดนิยมอย่าง “การปลูกต้นไม้”


      “ต้นไม้” หนึ่งในกิจกรรมที่อยู่ในอันดับต้นๆของกิจกรรมที่คนวัยเกษียณให้ความนิยม ทั้งเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และยังนับว่าเป็นการออกกำลังกายที่ให้ความเพลิดเพลิน รวมถึงเกิดความภาคภูมิใจเมื่อเห็นการเจริญเติบโตของเหล่าพืชพันธุ์ที่ได้ลงมือลงแรงปลูกไว้ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการเลือกพันธุ์ไม้และการจัดวางอย่างไร้ขีดจำกัดภายในรั้วบ้าน บางท่านก้าวหน้าเลยเถิดจนถึงขั้นเพาะขายกันเลยก็มี หากได้ถึงระดับนั้นการที่จะรู้สึกว่าตนเองไร้คุณค่าจะหายไปโดยสิ้นเชิง หรือหากจะปลูกต้นไม้เพื่อเป็นเพียงกิจกรรมยามว่าง สิ่งที่ได้รับกลับมาก็คุ้มค่ากว่าเงินทองเป็นไหนๆ อย่างที่ทราบกันดีโดยทั่วไป “สีเขียว” คือสีที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย สบายตา เมื่อบริเวณบ้านหรือรอบบ้านมีต้นไม้สีเขียวหรือสีสรรของไม้ดอกนานาชนิด ความรู้สึกผ่อนคลายของคนวัยเกษียณจะมีมากขึ้น รวมถึงการใช้เวลาว่างในการจัดการกับกระถาง ดิน ช้อนปลูก ส้อมพรวน ยังถือเป็นการทดแทนเวลาในส่วนที่เคยนั่งทำงานหรือติดต่องานกับคนในที่ทำงานด้วย ดังนั้น เวลา 8 ชม.ที่เคยนั่งทำงานหรือประสานงานก็จะถูกทดแทนด้วยกิจกรรมที่มีประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสภาวะแวดล้อมของโลกเรา


      ท้ายที่สุด “ความรักและความเข้าใจ” ของคนในครอบครัว สำคัญมากกว่าต้นไม้หลากหลายชนิดที่ว่ามาทั้งหมดในข้างต้น คนในวัยสูงอายุเมื่อต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่คุ้นชินมาเป็นเวลานาน อารมณ์อาจจะแปรปรวนได้เมื่อรู้สึกเครียด คนในครอบครัวหรือลูกหลานจึงควรให้ความเข้าใจและหากิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้จะช่วยให้ภาวะกดดันต่างๆของคนวัยเกษียณลดลงตามไปด้วย

                                                                                                     

                                                                                                                                      กนกวรรณ ยิ้มจู
                                                                                                                                     นักประชาสัมพันธ์
                                                                                                                                จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย