Print
Hits: 3384

เขียนข่าวอย่างไรให้ได้รับการเผยแพร่ทางสื่อมวลชน


    “อย่าขี้เกียจเขียนข่าว ขอให้ส่งข่าวออกไป ข่าวคงมีโอกาสได้รับการเผยแพร่”

     
     “งานประชาสัมพันธ์กับงานสื่อมวลชนนั้นไม่ต่างกัน ที่สำคัญต้องมีใจรัก รักในองค์กร รักการเขียน รักการอ่าน รักการเป็นผู้ประสานงาน”

     “คุณสมบัติของพีอาร์มืออาชีพต้องมีความรู้ความสามารถ มีทัศนคติที่ดี มีบุคลิกภาพที่เหมาะสม การติดต่อกับสื่อมวลชนต้องดูแลใส่ใจในทุกรายละเอียด”

     ข้อคิดสะกิดใจเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความรู้อันมีค่าที่คุณโสภาวดี จันทร์ถาวร คุณฐิติวรรณ ไสวแสนยากร และคุณอำมร บรรจง สามวิทยากรผู้มากด้วยความรู้และประสบการณ์ได้ถ่ายทอดให้แก่ชาว CU PR กว่า 70 ชีวิต ในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “คุณลักษณ์นักประชาสัมพันธ์ยุคใหม่ : เขียนข่าวอย่างไรให้ได้รับการเผยแพร่” จัดโดยเครือข่ายวิชาชีพประชาสัมพันธ์ จุฬาฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม 2558 ณ ห้องประชุมชั้น 7 สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาฯ ซึ่งได้จุดประกายความคิดและช่วยเติมเต็มความรู้ในงานประชาสัมพันธ์แก่ผู้เข้าอบรมได้อย่างดียิ่ง

     คุณโสภาวดี จันทร์ถาวร กรรมการผู้จัดการบริษัท 124 คอมมิวนิเคชันส์ คอนซัลติ้ง จำกัด วิทยากรคนแรก ได้ให้ความรู้ในเรื่องคุณลักษณ์นักประชาสัมพันธ์ สู่ความสำเร็จของงาน PR โดยกล่าวถึงบทบาทของงานประชาสัมพันธ์ในปัจจุบันว่ามีขอบเขตความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น นักประชาสัมพันธ์ต้องวางแผนและควบคุมการสื่อสารที่หลากหลายมากขึ้น ความเครียดในงานประชาสัมพันธ์มีส่วนช่วยผลักดันให้นักประชาสัมพันธ์พัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น คุณลักษณะของนักประชาสัมพันธ์ที่ดีจะต้องมีความสามารถในการสื่อสารได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน ชัดเจน “รู้เขา รู้เรา” เข้าใจในสิ่งที่ผู้บริหารหรือผู้รับบริการต้องการอย่างแท้จริง รู้จักสื่อมวลชน มีความรู้ด้านสื่อใหม่ๆ ทั้งสื่อออนไลน์ สื่อ social media นอกจากนักประชาสัมพันธ์จะต้องดูแลนักข่าวเป็นอย่างดีแล้ว ยังต้องเข้าใจการทำงานของนักข่าวด้วย “หิวข่าว ไม่ได้หิวข้าว” “หมากัดคนไม่เป็นข่าว คนกัดหมาถึงจะเป็นข่าว” “ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียตังค์” เป็นข้อคิดคำคมที่คุณโสภาวดีฝากไว้ในการบรรยายครั้งนี้ นอกจากนี้ในการติดต่อกับสื่อมวลชนต้องมีความต่อเนื่อง จะทำๆหยุดๆไม่ได้

     ในภาคบ่าย เป็นการบรรยายและฝึกปฏิบัติการเรื่อง “เทคนิคการเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ให้ได้รับการเผยแพร่” โดยคุณฐิติวรรณ ไสวแสนยากร หัวหน้าข่าวการศึกษา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และคุณอำมร บรรจง ผู้ดำเนินรายการวิทยุ “บอกเล่า 96.5” ทางสถานีวิทยุ อสมท สองวิทยากรสื่อมวลชนมืออาชีพได้มาบอกเล่าประสบการณ์การทำงานด้านงานข่าวซึ่งจะต้องทำงานร่วมกับนักประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้ นักประชาสัมพันธ์ต้องมีใจเต็มร้อย ไม่ว่าจะเป็นใจรักในงานที่ทำ ใจสู้ ไม่ท้อแท้ ไม่ถอดใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา อย่าติดต่อสื่อเฉพาะในยามที่ต้องการจะเผยแพร่ข่าว ต้องเปิดใจรับฟังความเห็นของผู้อื่น นอกจากนี้นักประชาสัมพันธ์จะต้องสร้างโอกาสในการเผยแพร่ข่าวทางสื่อมวลชนโดยการ “รุกเพื่อรับ” เผยแพร่ข่าวให้ฉับไว ฉกฉวย ช่วงชิงโอกาสนำเสนอข่าว ทันต่อกระแสสังคม อย่าปฏิเสธการชี้แจงข่าวในแง่ลบ ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ อย่ามองสื่อเป็นศัตรู เข้าใจธรรมชาติของสื่อประเภทต่างๆ ทั้งสื่อวิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ ในการเขียนข่าวประชาสัมพันธ์นั้น ผู้ส่งข่าวจะต้องมีความรู้ในข่าวที่จะสื่อสารออกไป เห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ ไม่ปิดกั้นตนเอง หลักในการเขียนข่าวจะไม่ใส่ความเห็นของผู้เขียนข่าวลงไปในเนื้อหาข่าว

     ในช่วงท้ายของการอบรม เป็นการฝึกภาคปฏิบัติ คุณฐิติวรรณและคุณอำมรได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าอบรมได้แบ่งกลุ่มระดมความคิดร่วมกันแก้ไขข่าวงานวิจัยที่ส่งสื่อมวลชน พร้อมทั้งให้คำแนะนำต่างๆในการเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

     ช่วงเวลา 6 ชั่วโมงเต็มที่ได้เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “คุณลักษณ์ นักประชาสัมพันธ์ยุคใหม่ : เขียนข่าวอย่างไรให้ได้รับการเผยแพร่” พวกเราได้รับความรู้ที่น่าสนใจมากมายจากวิทยากรทั้งสามท่าน ทั้งในเรื่องคุณสมบัติของนักประชาสัมพันธ์มืออาชีพ การเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ให้ได้รับการเผยแพร่ และการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสื่อมวลชน หลายสิ่งที่น่าประทับใจเกิดขึ้นในการอบรมครั้งนี้ พวกเราได้ถ่ายภาพหมู่เป็นที่ระลึกร่วมกันเหมือนเช่นการอบรมทุกครั้งที่ผ่านมาของเครือข่ายวิชาชีพประชาสัมพันธ์ จุฬาฯ แต่ความรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษที่ยังติดตรึงในใจตราบจนทุกวันนี้ก็คือการได้มีโอกาสได้ฟังอำมร บรรจง เพื่อนรักจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในวิทยากรของโครงการอบรมครั้งนี้ทำหน้าที่วิทยากรได้อย่างยอดเยี่ยมและสนุกสนาน พร้อมได้รับเสียงชื่นชมตอบรับจากผู้เข้าอบรมไปเต็มๆ ขอบคุณจากใจในมิตรไมตรีจากเพื่อนคนนี้ที่ได้นำความรู้ในวิชาชีพวิทยุกลับมาช่วยจุฬาฯอีกครั้ง เป็นความทรงจำที่ดีที่จะระลึกถึงตลอดไป

                                                                                                                                                                                                               สุรเดช พันธุ์ลี
                                                                                                                                                                                      หัวหน้ากลุ่มภารกิจสารนิเทศ ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ