“ข้อไหล่ติด”....รักษาหายได้ถ้าปฏิบัติอย่างถูกวิธี

 

      0022334455“ข้อไหล่” เป็นข้อที่เคลื่อนไหวได้มากที่สุดของร่างกาย ช่วยให้เราเอื้อมหยิบของที่สูงๆเหนือศีรษะ สามารถหมุนจนเราเอื้อมมือไปด้านหลังได้ ข้อไหล่ประกอบด้วยกระดูก 3 ชิ้น ได้แก่ กระดูกต้นแขน กระดูกไหปลาร้า และกระดูกสะบัก กล้ามเนื้อที่มาหุ้มอยู่โดยรอบข้อไหล่มีหน้าที่ช่วยการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กล้ามเนื้อกลุ่มหุ้มรอบหัวไหล่ กล้ามเนื้อยึดตึงข้อไหล่ และกล้ามเนื้อกลุ่มเคลื่อนไหวหลัก การบาดเจ็บบริเวณข้อไหล่เกิดขึ้นได้เสมอทั้งจากการทำงานเกินกำลังของระบบกล้ามเนื้อและเอ็นรอบๆข้อไหล่ การบาดเจ็บของข้อไหล่อาจเกิดจาการเล่นกีฬา การทำงานหรือการอักเสบต่างๆ ปัญหาของข้อไหล่ส่วนใหญ่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการง่ายๆ ได้แก่ การพักการใช้งาน การห้อยแขน การบริหารและยืดเหยียดข้อไหล่ เมื่อมีอาการปวดที่ข้อไหล่ควรพักการใช้งานก่อนที่อาการบาดเจ็บจะลุกลามไปมาก


      ข้อไหล่ติด เป็นอาการที่ผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้เนื่องจากอาการตึงจนไม่สามารถยก กาง หรือหมุนข้อหัวไหล่ อาการข้อไหล่ติดมักค่อยๆ เริ่มปรากฏ จากการลดการเคลื่อนไหวของข้อไหล่จนกระทั่งเคลื่อนไหวได้น้อยมาก สาเหตุของการอักเสบของข้อไหล่ยังไม่พบสาเหตุแน่ชัด แต่อาการข้อไหล่ติดมักเกิดในผู้ที่มีอายุ 40 – 60 ปี โดยเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบว่าผู้ที่เป็นเบาหวาน ต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจ มีโอกาสเกิดภาวะข้อไหล่ติดได้มากกว่าคนทั่วไป ส่วนใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งมักมีอาการปรากฏทั้งสองข้าง นอกกจากนี้ผู้ป่วยที่ได้รับการบาดเจ็บที่ข้อไหล่มาก่อนและต้องหยุดการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ชั่วคราวก็มีโอกาสเกิดอาการข้อไหล่ติดด้วยเช่นกัน

      อาการข้อไหล่ติดอาจแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะอักเสบ ระยะติด และระยะคลายตัว ระยะเวลาที่เป็นทั้งหมดอาจยาวนานจาก 6 เดือนถึง 2 ปี ระยะอักเสบเป็นระยะเริ่มแรกของอาการไหล่ติด ผู้ป่วยมักมีอาการปวดบริเวณข้อไหล่ เป็นอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน อาการนี้อาจเป็นอยู่นานถึง 2 สัปดาห์ ต่อมาผู้ป่วยจะรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ลดลงเข้าสู่ระยะติด ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถใช้งานแขนในการดำเนินชีวิตประจำวันจากการเคลื่อนไหวที่กระดูกสะบักแทนการเคลื่อนไหวที่ข้อไหล่ ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ในระยะนี้และพยายามใช้วิธีต่างๆ ในการเคลื่อนไหวข้อไหล่ อย่างไรก็ตาม การพยายามดัดข้อไหล่แรงๆ อาจทำให้การอักเสบเพิ่มขึ้นและมีการบาดเจ็บของกระดูกและข้อได้ หลังจากการติดของข้อไหล่ระยะหนึ่งแล้ว อาการข้อไหล่ติดจะค่อยๆดีขึ้นเข้าสู่ระยะคลายตัว การเคลื่อนไหวจะดีขึ้นจนกระทั่งสามารถกลับมาใช้งานแขนได้เป็นปกติ

      การรักษาอาการข้อไหล่ติด ในระยะแรกอาจให้ยาแก้ปวดและต้านการอักเสบ ผู้ป่วยต้องพยายามคงการเคลื่อนไหวโดยการเคลื่อนไหวข้อไหล่เหมือนตุ้มนาฬิกา เมื่อเข้าสู่ระยะติด การทำกายภาพบำบัดด้วยการใช้อุปกรณ์ความร้อนต่างๆ การดัดข้อไหล่โดยนักกายภาพบำบัดและการใช้เครื่องมือในการบริหารเคลื่อนไหวของข้อไหล่จะช่วยทำให้อาการเป็นปกติเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรต้องช่วยตนเองด้วยการยืดดัดข้อไหล่ทุกวัน วันละ 3-4 ครั้ง ก่อนการดัดข้อไหล่ควรประคบด้วยแผ่นความร้อน เมื่อดัดข้อไหล่แล้วมีอาการปวดตึงอาจใช้แผ่นความเย็นป้องกันการอักเสบ

      หากอาการข้อไหล่ติดไม่ดีขึ้นหลัง 6 - 8 เดือน แพทย์อาจพิจารณาการดมยาสลบเพื่อดัดข้อไหล่ หรือการส่องกล้องข้อไหล่เพื่อตัดขยายถุงหุ้มไหล่ให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น

 

ขอบคุณข้อมูลดีๆจากชุดหนังสือสุขภาพ
Bones Care Kit กระดูก 206 ชิ้นที่ควรใส่ใจ