Print
Hits: 7069

คำแนะนำพิเศษบนซองยา

 

      ทุกครั้งที่ไปหาหมอ เวลารับยา เภสัชกรมักจะอธิบายหรือติดสติ๊กเกอร์คำแนะนำพิเศษบนซองยาหรือขวดยา เช่น กินก่อนอาหาร กินพร้อมอาหารแล้วดื่มน้ำตามมากๆ ยานี้กินแล้วง่วงนอนให้ระวังในการขับรถ ฯลฯ ปัญหาคือทำไมเราจึงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านั้น มีเหตุผลอะไรที่เภสัชกรจะต้องพูด ต้องเตือนเราอย่างนั้น เรามาไขข้อสงสัยเหล่านี้จากหนังสือ “หยูกยาน่ารู้” กันนะคะ


      ควรกินยานี้ก่อนอาหาร


      ปกติแนะนำให้กินยาก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง (ระยะเวลาก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง เป็นเวลาที่กระเพาะอาหารว่าง) ยาที่ให้กินก่อนอาหารมักเป็นยาที่มีข้อจำกัด หากกินยาไปแล้วมีอาหารรร่วมอยู่ในกระเพาะอาหารจะลดการดูดซึมของยา ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควรหรือไม่ได้ผลเลย ได้แก่ ยารักษาโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น แอมพิซิลลิน ลินโคมัยซิน จึงแนะนำให้กินตอนท้องว่าง นอกจากนี้ยาที่ใช้ป้องกันการคลื่นไส้ อาเจียน เช่น เมโตโคลปราไมล์ ต้องกินก่อนอาหาร 30 นาที จึงจะได้ผลเต็มที่และป้องกันอาการคลื่นไส้หลังจากผู้ป่วยกินอาหารได้


      ควรกินยานี้หลังอาหาร


      ยาที่แนะนำให้กินหลังอาหารทันทีจะเป็นยาที่มีฤทธิ์กัดกระเพาะ ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนถ้ากินตอนท้องว่าง ยาเหล่านี้ได้แก่ แอสไพริน ยารักษาโรคปวดข้อทุกชนิด การกินหลังอาหารทันทีจะช่วยลดอาการคลื่นไส้ลงได้และมีส่วนป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะจากยาเหล่านี้ด้วย ยาลดกรดที่แพทย์สั่งให้ผู้ป่วยที่ตรวจพบว่าเป็นแผลในกระเพาะอาหาร มักสั่งให้กินหลังอาหาร 1 ชั่วโมง และ 3 ชั่วโมง เนื่องจากพบว่าระดับของกรดในกระเพาะอาหารจะมีปริมาณสูงสุดภายใน 1 ชั่วโมง และ 3 ชั่วโมงหลังอาหาร นอกจากนี้แพทย์ยังสั่งให้กินยาลดกรดก่อนนอนด้วย เพราะในช่วงกลางคืนจะมีกรดหลั่งออกมามาก


      กินยานี้ควรดื่มน้ำตามมากๆ


      อาจแบ่งได้ 2 กรณี คือ ยาที่มีผลข้างเคียงให้คลื่นไส้อาเจียนมาก ควรกินยาหลังอาหารทันที และควรดื่มน้ำตามมากๆ ด้วย เพื่อลดผลข้างเคียง อีกกรณีหนึ่งคือเป็นยาที่ตกตะกอนในไตได้ง่าย จึงต้องดื่มน้ำ ตามมากๆ ยาพวกนี้ได้แก่ ยาพวกซัลฟา


      กินยานี้แล้วอาจง่วงนอน


      กินยานี้แล้วอาจง่วงนอน ต้องระวังเมื่อขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักกล ยาประเภทนี้มักเป็นยาแก้แพ้สำหรับอาการคัน ผื่นแดง หรือยาที่ใช้ลดน้ำมูก เช่น คลอเฟนนิรามีน บรอมเฟนนิรามีน ยาป้องกันการเมารถ เรือ หรือยาแก้แพ้ผื่นคัน ลมพิษ เช่น ไฮดร๊อกไวซิน เมื่อกินเข้าไปจะมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการง่วงนอน เนื่องจากมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานยนต์หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ยาคลาดเครียด เช่น ไดอะซีแพม ก็ต้องมีคำเตือนนี้เช่นกัน


      กินยานี้แล้วห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


      ผู้ป่วยที่ได้รับยาทุกชนิดที่มีผลกดระบบประสาท ต้องงดดื่มเหล้าโดยเด็ดขาด รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาดองต่างๆ ยาที่มีผลกดประสาทมีหลายประเภท ได้แก่ ยาแก้แพ้ ยาคลายเครียด ยานอนหลับและยังมียาอีกพวกหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับระบบประสาท แต่หากดื่มเหล้าจะทำปฏิกิริยาจนเกิดอาการข้างเคียงรุนแรงได้จึงต้องห้ามไว้ เช่น ยาลดน้ำตาลในเลือดบางตัว


      ควรกินยานี้ติดต่อกันทุกวันจนยาหมด


      ยาบางชนิดเป็นยาที่บรรเทาอาการ เมื่อหายแล้วหรืออาการดีขึ้นก็หยุดยาได้ แต่ยารักษาโรติดเชื้อ เช่น แอมพิซิลลิน เตตร้าซัยคลิน อีริโธรมัยซิน จำเป็นต้องจ่ายยาเพื่อรักษาโรคอย่างต่อเนื่องสักระนะหนึ่ง จะนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรค เพื่อให้แน่ใจว่ายาได้ไปทำลายเชื้อที่ก่อโรคหมดสิ้นแล้ว คำแนะนำนี้อาจพบในโรคบางชนิด ต้องใช้ยานานกว่า 10 วัน หรือโรคข้ออักเสบบางชนิด นอกจากนี้โรคแผลในทางเดินอาหาร ซึ่งอาจต้องกินยาต่อเนื่องนานถึง 6 สัปดาห์ จึงจะทำให้แผลในกระเพาะอาหารหรือสำไส้สมานได้เป็นปกติ หากไม่ทำตามคำแนะนำนี้ก็อาจต้องกลับเป็นแผลซ้ำอีกได้


      เคี้ยวยาให้ละเอียดก่อนกลืน


      คงจะมีหลายคนที่ข้องใจมานานว่าเวลาได้รับยาลดกรดชนิดเม็ด จะมีคำแนะนำให้เคี้ยวยาให้ละเอียดก่อนกลืน ทั้งนี้เพื่อหวังผลให้ยาที่ถูกเคี้ยวแล้วนั้นกระจายตัวในส่วนของทางเดินอาหารได้อย่างทั่วถึง ทำให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด สำหรับยาลดกรดชนิดน้ำขาวนั้น มักได้รับคำแนะนำให้เขย่าขวดก่อนรินยารับประทาน ก็ด้วยเหตุผลในทำนองเดียวกัน


      กินยาให้ถูกโรค ให้ถูกวิธีตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร เพื่อผลการรักษาของตัวท่านเองนะคะ