จดหมาย(ไม่อิเล็กทรอนิกส์) คุณค่าเหนือกาลเวลา
“จดหมาย” เป็นสื่อสัมพันธ์ที่บ่งบอกความในใจจากผู้เขียนที่บรรจงร้อยเรียงถ้อยคำสื่อความหมาย ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดผ่านปลายปากกาลงบนกระดาษเขียนจดหมาย ด้วยลายมือของผู้เขียนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เชื่อแน่ว่าทุกคนล้วนมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับจดหมายมาแล้ว ไม่ว่าจะในฐานะผู้เขียนจดหมายหรือว่าผู้รับก็ตาม
ย้อนเวลากลับไปในยุคที่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์หรือ “อีเมล์” ยังไม่มีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของเราเช่นทุกวันนี้ จดหมายถือเป็นช่องทางหลักในการติดต่อสื่อสารถึงกันและกันของคนทุกวัย เป็นสื่อที่สานสายใยสัมพันธ์และมิตรภาพระหว่างคนสองคนและหลายๆคนที่อยู่ไกลกันคนละมุมเมืองและมุมโลกให้มาใกล้กัน ทุกตัวอักษรในจดหมายแฝงด้วยความรักความห่วงใย ความเอื้ออาทร และหลากหลายความรู้สึกที่สามารถสัมผัสได้ด้วยสายตา เพียงแค่จดหมายสักฉบับหรือไปรษณียบัตรเพียงหนึ่งใบก็ทำให้ผู้รับประทับใจไปนานแสนนาน ด้วยเทคโนโลยีทางการสื่อสารในอดีตที่ยังไม่ทันสมัย ไม่มีโทรศัพท์มือถือหรืออินเตอร์เน็ตให้ติดต่อถึงกันอย่างทันใจผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook และ LINE จดหมายจึงมีความหมายต่อผู้ส่งและผู้รับเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเวลาผ่านไป จดหมายยังเป็นเครื่องเตือนใจให้รำลึกถึงอดีตที่งดงาม ถ้อยคำแต่ละบรรทัดที่เรียงร้อยในจดหมาย ช่วยย้อนความ ทรงจำที่ดีในอดีตให้กระจ่างชัดขึ้นมาอีกครั้ง แม้ลายมือจะไม่สวย ถ้อยคำที่ใช้ในจดหมายจะแสนเชยไม่ทันสมัย แต่มันก็เต็มเปี่ยมด้วยความตั้งใจและความรู้สึกที่กลั่นออกมาจากใจจริง
ภาพสะท้อนคุณค่าของจดหมายได้ถูกถ่ายทอดผ่านแผ่นฟิล์มสู่สายตาผู้ชมภาพยนตร์เรื่องแล้วเรื่องเล่า หนึ่งในนั้นคือ “The Letter จดหมายรัก” ภาพยนตร์ไทยที่เป็นที่จดจำเมื่อปี ๒๕๔๗ ผู้ชมต่างสะเทือนใจไปกับความรักของ“ดิว”และ”ต้น” ซึ่งรับบทโดยแอน ทองประสม และอรรถพร ธีมากร ความรักของทั้งคู่เริ่มต้นด้วยความสุขความสมหวัง แม้จะลงเอยด้วยความเศร้าเมื่อต้นต้องจากไปเนื่องจากโรคร้าย หลังจากสูญเสียคนรัก ความรู้สึกประหลาดใจเกิดขึ้นกับดิว เมื่อเธอได้รับจดหมายรักฉบับแล้วฉบับเล่าจากต้นที่เขียนถึงเธอในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ ทุกๆวันดิวจึงเฝ้ารอคอยจดหมายรักจากต้นด้วยใจที่จดจ่อและกระวนกระวาย จวบจนจดหมายฉบับสุดท้ายที่ต้นส่งให้เธอ ซึ่งเป็นของขวัญชิ้นสุดท้ายที่มีความหมายและซาบซึ้งยิ่ง
ภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่มีชื่อคล้ายกันคือ “Love Letter จดหมายรักจากความ ทรงจำ” เป็นภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่สร้างความซาบซึ้งประทับใจแก่ผู้ชมมาแล้วมากมาย ออกฉายเมื่อปี ๒๕๓๘ นำแสดงโดย MIHO NAKAYAMA และ ETSUSHI TOYOKAWA มีเนื้อหาเริ่มต้นจากจดหมายที่นางเอกเขียนขึ้นในวันครบรอบการจากไปของคู่หมั้นของเธอที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ด้วยความคิดถึง เธอจึงเขียนจดหมายส่งไปตามที่อยู่ของเขาในหนังสือรุ่นสมัยมัธยม แม้จะรู้ว่าจดหมายนั้นจะต้องถูกตีกลับก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อเธอได้รับจดหมายตอบกลับจากชายคนรักของเธอ ซึ่งเป็นปริศนาคาใจที่ผู้ชมสามารถค้นหาคำตอบได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้
ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่อาจปฏิเสธว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีทางการสื่อสารที่ก้าวไกล ทำให้คนนิยมเขียนจดหมายถึงกันน้อยลง โดยหันมาส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออีเมล์ถึงกันซึ่งแสนสะดวกและง่ายดายกว่าอย่างไรก็ตาม เชื่อแน่ว่า “จดหมายจะไม่หายไปไหน” จดหมายยังคงเป็นสื่อที่ทรงคุณค่าในโลกแห่งการติดต่อสื่อสารในทุกยุคทุกสมัย ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้รณรงค์ให้คนเขียนจดหมายโดยจัดกิจกรรมการประกวดเขียนจดหมายและงานสัปดาห์สากลแห่งการเขียนจดหมายเป็นประจำทุกปี เพื่อให้เยาวชนไทยใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องในการเขียนจดหมาย ในขณะเดียวกัน ในระดับสากลก็มีการจัดประกวดการเขียนจดหมายประเภทเยาวชนระหว่างประเทศในหัวข้อต่างๆ ที่กำหนดโดยสหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union : UPU)
วันนี้นอกจากเราส่งอีเมล์ถึงกันแล้ว หากไม่เสียเวลาเกินไป ลองจับปากกาเขียน จดหมายถึงเพื่อนหรือคนที่คุณรักกันบ้าง อย่างน้อยก็ถือเป็นการสื่อสารผ่านตัวหนังสือด้วยลายมือเขียนของคุณเองซึ่งไม่เหมือนใคร
สุรเดช พันธุ์ลี
หัวหน้ากลุ่มภารกิจสารนิเทศ ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ