Print
Hits: 2345

“จุฬาสัมพันธ์” สื่อสำคัญในรั้วจามจุรี


สุรเดช พันธุ์ลี
หัวหน้ากลุ่มภารกิจสารนิเทศ ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ


      im2145ปัจจุบันสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทออนไลน์ และ e–book เป็นที่สนใจอย่างแพร่หลาย ในฐานะสื่อสมัยใหม่ที่สามารถสืบค้นข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายทางอินเตอร์เน็ต ในขณะเดียวกัน สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ หนังสือ และวารสารที่เป็นรูปเล่มยังคงเป็นที่ต้องการของผู้อ่าน ด้วยคุณลักษณะพิเศษที่สื่อออนไลน์ไม่อาจทดแทนได้ แม้ว่าสื่อสิ่งพิมพ์จะต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศที่แพร่เข้ามาอย่างรวดเร็วก็ตาม


      เช่นเดียวกับวารสารประชาสัมพันธ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ประชาคมจุฬาฯได้รับทุกสัปดาห์คือ “จุฬาสัมพันธ์” ซึ่งอยู่คู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมายาวนานกว่า ๕๗ ปี มีการเปลี่ยนแปลงปรับโฉมมาแล้วมากมายหลายครั้ง แต่วารสารฉบับนี้ก็ยังคงยืนหยัดทำหน้าที่สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยที่รวบรวมข้อมูลข่าวสาร และภาพกิจกรรมต่างๆของมหาวิทยาลัย คณะ สถาบัน และหน่วยงานต่างๆในรั้วจามจุรี เป็นช่องทางหลักในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของมหาวิทยาลัยไปสู่ประชาคมจุฬาฯ วารสารจุฬาสัมพันธ์จึงนับเป็นหนึ่งใน”สิ่งอันทรงคุณค่า”ของ จุฬาฯ ที่เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าอ้างอิงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี


      อ.เกษม จันทร์น้อย อดีตหัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการกองกลาง สำนักงานอธิการบดี จุฬาฯ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาของ”จุฬาสัมพันธ์” ว่า จุฬาสัมพันธ์เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ในสมัยที่ อ.สำเภา วรางกูร เป็นหัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์ สำนักเลขาธิการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำริให้แผนกประชาสัมพันธ์ กองกลาง จัดทำจดหมายข่าว เพื่อแจ้งข่าวสารไปยังประชาคมจุฬาฯ จดหมายข่าวจุฬาสัมพันธ์ฉบับปฐมฤกษ์ เป็นฉบับประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๐ รูปแบบเป็นกระดาษฟุลสแก๊ป ใช้วิธีโรเนียว นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับสรุปผลการประชุมคณบดี อ.ก.ม. และข่าวอื่นๆ จำนวนพิมพ์ประมาณ ๑๐๐ ชุด เผยแพร่เป็นรายเดือน ต่อมาในปี ๒๕๐๘ - ๒๕๑๓ ได้จัดพิมพ์เป็นกระดาษ A4 พิมพ์ที่โรงพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์ ต่อมาโรงพิมพ์จุฬาฯได้ดำเนินการจัดพิมพ์ ออกเผยแพร่เป็นรายปักษ์และรายสัปดาห์ตามสถานการณ์ จำนวนพิมพ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามจำนวนของประชาคมจุฬาฯ กองบรรณาธิการเดิมเป็นคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย มีเลขานุการบริหาร (ปัจจุบันคือรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร) เป็นประธาน หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์เป็นเลขานุการ


      im2146จากวารสารจุฬาสัมพันธ์ในอดีต ผ่านความเปลี่ยนแปลงแห่งกาลเวลา พัฒนาการทางเทคโนโลยี และการบริหารของผู้บริหารจุฬาฯมาหลายสมัย สู่จุฬาสัมพันธ์ในวันนี้ที่ออกเผยแพร่เป็นรายสัปดาห์ ขนาด A 4 จำนวน ๑๒ หน้า พิมพ์ ๒ สี ด้วยระบบออฟเซท วัตถุดิบในการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง ๗.๐๔% มีการแบ่งเนื้อหาตามกลุ่มเป้าหมายและเนื้อหาในเล่ม ประกอบด้วยวารสารจุฬาสัมพันธ์ฉบับปกติสำหรับคณาจารย์และ บุคลากร จุฬาสัมพันธ์ฉบับสุดท้ายของเดือนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับนิสิตโดยตรง รวมทั้งจุฬาสัมพันธ์ฉบับพิเศษ พิมพ์สี่สี ในวาระสำคัญของมหาวิทยาลัย


      วารสารจุฬาสัมพันธ์จึงมิใช่เป็นเพียงสื่อสิ่งพิมพ์ธรรมดาที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปภายในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังมีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่า ทั้งผลงานวิจัย การให้บริการวิชาการ สู่สังคมและชุมชน การยกย่องคณาจารย์ บุคลากร และนิสิตจุฬาฯที่สร้างชื่อเสียงเกียรติคุณ ในด้านต่างๆ นอกจากนี้กลุ่มภารกิจสารนิเทศ ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ ซึ่งรับผิดชอบการจัดทำวารสารยังได้เผยแพร่จุฬาสัมพันธ์บนเว็บไซต์จุฬาฯให้คนทุกมุมโลกสามารถติดตามอ่านได้ที่ http://www.chula.ac.th/blog/archives/cover/periodicals/curelationship


      แล้วคุณล่ะ... วันนี้ได้อ่านจุฬาสัมพันธ์แล้วหรือยัง?