จาก “วันทรงดนตรี” ถึง “วันที่ระลึกวันทรงดนตรี”
ความสุขความทรงจำที่ประทับใจ



      00223113ทุกๆวันที่ ๒๐ กันยายนของทุกปีที่หอประชุมจุฬาฯ สิ่งที่พบเห็นจนชินตาคือบรรยากาศอันคึกคัก ไปด้วยผู้ชมมากมาย ทั้งนิสิตเก่า นิสิตปัจจุบัน คณาจารย์ บุคลากร และประชาชนผู้สนใจ คลาคล่ำเต็ม ทั้งหอประชุมจุฬาฯ เพื่อเฝ้ารอชมการแสดงในงานวันที่ระลึกวันทรงดนตรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี บทเพลงพระราชนิพนธ์อันไพเราะทั้ง ๔๘ บทเพลงได้ถูกขับขานและบรรเลงโดยวงดนตรีซี ยู แบนด์ สร้างความสุข ความประทับใจ ย้อนบรรยากาศไปเมื่อปี ๒๕๐๑ – ๒๕๑๖ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรีพระราชทานแก่นิสิตจุฬาฯ ณ หอประชุมจุฬาฯ แม้เวลาจะผ่านไปนานเพียงใด แต่ภาพแห่งความประทับใจเหล่านั้นยังคงแจ่มชัด อยู่ในความทรงจำของนิสิตเก่าชาวจุฬาฯไม่รู้คลาย


      “วันทรงดนตรี” เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่คณาจารย์และนิสิตจุฬาฯที่ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ที่ประสูติเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๐๐ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นิสิตจุฬาฯเข้าเฝ้าฯเมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๐๐ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งกับนายสันทัด ตัณฑนันทน์ หัวหน้าวงดนตรีสากล สโมสรนิสิตจุฬาฯ สมัยนั้นว่าจะนำวงลายครามมาบรรเลงที่จุฬาฯ งานวันทรงดนตรี ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๐๑ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นอกจากจะทรงดนตรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้พระราชทานข้อคิดแก่นิสิตจุฬาฯ และพระราชทานความเป็นกันเอง สร้างบรรยากาศอันอบอุ่น สนุกสนานและประทับใจเป็นอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯมาทรงดนตรีที่จุฬาฯ ระหว่างปี ๒๕๐๑ – ๒๕๑๖ เนื่องจากทรงมี พระราชภารกิจเพิ่มขึ้นจึงไม่ได้เสด็จฯมาทรงดนตรีที่มหาวิทยาลัยอีก


      ในสูจิบัตร “วันที่ระลึกวันทรงดนตรี” วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๐ นายสันทัด ตัณฑนันทน์ นิสิตเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และครุศาสตร์ อดีตประธานชมรมดนตรีสากล จุฬาฯ สมาชิกวง ICU Band กล่าวถึงที่มาของการจัด “งานวันที่ระลึกวันทรงดนตรี” อย่างเป็นทางการไว้ในบทความเรื่อง “กว่าจะเป็นวันที่ระลึกวันทรงดนตรี” ว่า เพื่อรณรงค์ให้ชาวจุฬาฯตระหนักถึงความผูกพันและความสำคัญของงานวันทรงดนตรีและมูลนิธิอานันทมหิดลซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมหาวิทยาลัยได้มีส่วนในการจัดงานวันที่ระลึกวันทรงดนตรีเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๕ ที่ศาลาพระเกี้ยว และย้ายมาจัดที่หอประชุมจุฬาฯ เมื่อปี ๒๕๔๖ ต่อมาในปี ๒๕๔๗ จุฬาฯได้กำหนดไว้ในปฏิทินกิจกรรมของมหาวิทยาลัยว่าวันที่ ๒๐ กันยายนเป็นวันที่ระลึกวันทรงดนตรี   จากนั้นจึงมีการจัดงานวันที่ระลึกวันทรงดนตรีเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน


      00223114งาน“วันที่ระลึกวันทรงดนตรี” ปีนี้จัดขึ้นในวันศุกร์ที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๘.๐๐ – ๒๑.๐๐ น. โดยเปลี่ยนสถานที่จัดงานจากหอประชุมจุฬาฯ ซึ่งปิดซ่อม มาจัดที่ห้อง ๒๑๒ อาคารมหิตลาธิเบศร การแสดงในปีนี้ วงดนตรีซียู แบนด์ถ่ายทอดความไพเราะของบทเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๗ – ๔๑ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ทั้งคำร้องเป็นภาษาอังกฤษ ประกอบด้วยเพลง Still on My Mind ,Old-Fashioned Melody , No Moon , Dream Island และ Echo นอกจากนี้วงดนตรีพี่เก่า ICU Band ร่วมขับขานและบรรเลงบทเพลงไทยและสากลที่เป็นที่รู้จักกันดี อาทิ แต่ปางก่อน สักขีแม่ปิง ขอใจเธอแลกเบอร์โทร Tonight I celebrate my love for you , Unforgetable เป็นต้น รวมทั้งมีการรวบรวมเงินสมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดลเช่นเดียวกับทุกปีที่ผ่านมา


      จาก “วันทรงดนตรี” ในอดีต ถึง “วันที่ระลึกวันทรงดนตรี” ในวันนี้ สิ่งที่ผู้ชมมีความรู้สึกร่วมกันและสัมผัสได้ก็คือ ความสุขที่ได้รับฟังบทเพลงพระราชนิพนธ์อันไพเราะในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความประทับใจในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯมาทรงดนตรีที่จุฬาฯ และ พระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระองค์ท่าน นับเป็นความปลื้มปีติที่จะตราตรึงไว้ในใจของชาวจุฬาฯ ตราบนานเท่านาน