Print
Hits: 7333

ข้อคิดอันมีค่าจากสื่อมวลชน 4 สาขา 

งานเสวนา “PR CU พบ GURU ข่าว”


      DSC 0460บรรยากาศในงานเสวนา “PR CU พบ GURU ข่าว” ที่เครือข่ายวิชาชีพฯ ประชาสัมพันธ์ จุฬาฯ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ ณ ห้อง ๑๑๑ อาคาร มหาจุฬาลงกรณ์ เต็มไปด้วยความอบอุ่นและเปี่ยมด้วยความรู้อันมีค่า พวกเราเหล่าผู้ปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์ในจุฬาฯกว่า ๙๐ ชีวิต ได้มีโอกาสพบกับตัวจริงเสียงจริง ของสื่อมวลชนมืออาชีพทั้ง ๔ ท่านจาก ๔ สาขา ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และเว็บไซต์ เรียกได้ว่าถ้าใครได้ยินชื่อย่อมต้องรู้จักกันเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น คุณอำนาจ สอนอิ่มศาตร์ นักจัดรายการวิทยุอาวุโส เจ้าของรายการวิทยุ “คุยโขมงหกโมงเช้า” ซึ่งจัดรายการมายาวนานมากกว่า ๔๘ ปี คุณฐิติวรรณ ไสวแสนยากร หัวหน้าข่าวการศึกษา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับนัก PR จุฬาฯ โดยตรง คุณสายสวรรค์ ขยันยิ่ง ผู้ประกาศข่าวและผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๓ นิสิตเก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และคุณปกรณ์ สันติสุนทรกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและเว็บมาสเตอร์เว็บไซต์ Dek-d.com นิสิตเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ทุกท่านล้วนเป็น GURU หรือ “ครู” ทางด้านข่าว ที่ให้เกียรติมาแบ่งปันประสบการณ์การทำงานด้านการข่าว และให้คำแนะนำดีๆแก่ นักประชาสัมพันธ์ทั้งหลายในมหาวิทยาลัยอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง ดำเนินรายการโดย คุณชลรัศมี งาทวีสุข ผู้ประกาศข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าว ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ นิสิตเก่าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งกลับมาช่วยงานต่างๆของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาโดยตลอด


      คุณอำนาจ สอนอิ่มศาตร์ หรือคุณดุ่ย ได้ให้ข้อคิดจากประสบการณ์สำหรับผู้ที่จะเป็นนักจัดรายการวิทยุว่า ต้องยึดหลัก ๕ ส คือ สำเนียง เสียงพูดที่ไพเราะ นุ่มนวลน่าฟัง สำนวน มีการใช้ภาษาที่สุภาพ ใช้การเปรียบเทียบเปรียบเปรยเพื่อหลีกเลี่ยงคำพูดหยาบคาย สำนึก การตระหนักในสิ่งที่พูดออกไปว่ามีผลกระทบกับผู้อื่นหรือไม่ สำเหนียก การสดับรับฟังความเห็นของผู้อื่น และสำเนา สิ่งที่พูดออกไปทางสื่อวิทยุมีหลักฐานบันทึกไว้ว่าพูดอะไรออกไป


      คุณฐิติวรรณ ไสวแสนยากร หรือพี่ตุ้ย หัวหน้าข่าวการศึกษา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กล่าวถึงคุณค่าของข่าวในมุมมองของสื่อมวลชน คือข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ไม่มีหลักที่แน่นอนตายตัวว่าข่าวที่ส่งมาจะได้รับเผยแพร่ ขึ้นอยู่กับความสำคัญของข่าวที่สื่อมวลชนได้รับในวันนั้นๆ ข่าวจากสถาบันการศึกษาไม่จำเป็นต้องส่งมาที่หน้าการศึกษาเพียงอย่างเดียว สามารถส่งไปยังหน้าอื่นๆที่ตรงกับเนื้อหาของข่าวได้ เช่น หน้าสตรี กีฬา สังคม เศรษฐกิจ ฯลฯ ข่าวๆเดียวกันเมื่อนำเสนอผ่านสื่อต่างๆควรปรับเปลี่ยนเนื้อหาและขนาดข่าวให้เหมาะสมกับสื่อแต่ละประเภท


      ในมุมมองของพี่ตุ้ย หัวหน้าข่าวการศึกษา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้ให้ข้อคิดว่า นักประชาสัมพันธ์และสื่อมวลชนต้องพึ่งพาอาศัยกัน ในการส่งข่าวมาประชาสัมพันธ์นั้นควรยึดหลัก ๒ฉ ๑ช คือ ฉกฉวยโอกาสในการนำเสนอข่าวเพื่อเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจแก่สังคม และช่วงชิงการนำเสนอข่าวให้ฉับไว สิ่งสำคัญสำหรับนักประชาสัมพันธ์ควร “รู้เขารู้เรา” คือ รู้ข้อมูลของหน่วยงานและรู้ว่าควรนำเสนอข่าวทางสื่อมวลชนในช่องทางใด “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” คือรู้และเข้าใจว่าข่าวส่งออกไปเผยแพร่นั้นมีคุณค่าข่าวเพียงพอสำหรับนำเสนอทางสื่อมวลชนหรือไม่ ทั้งนี้ในมหาวิทยาลัยและคณะต่างๆมีหลักสูตรต่างๆและสิ่งใหม่ๆที่น่าสนใจมากมาย นักประชาสัมพันธ์จะนั่งทำงานที่โต๊ะอย่างเดียวโดยมองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมดาไม่ได้ ในทางกลับกัน อย่าปิดกั้นตัวเองในการชี้แจงสร้างความกระจ่างสำหรับข่าวในเชิงลบ ควรแปลงวิกฤตให้เป็นโอกาสเพื่อชี้แจงเหตุผลให้สังคมเข้าใจ ปัจจุบันนอกจากสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์แล้ว ยังมีสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งสามารถสร้างการรับรู้ในวงกว้างแก่ประชาชน นอกจากนี้การทำความรู้จักสร้างความคุ้นเคยกับสื่อมวลชนเป็นอย่างดีมีผลทำให้ข่าวได้รับการเผยแพร่ได้ง่ายขึ้น


      คุณสายสวรรค์ ขยันยิ่ง หรือคุณหนิง ผู้ประกาศข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวจากสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีข่อง ๓ กล่าวเสริมว่า ในการทำงานของนักประชาสัมพันธ์นอกจากความรู้ในเรื่องช่องทางการเผยแพร่ข่าวผ่านสื่อต่างๆที่มีอยู่หลากหลายแล้ว นักประชาสัมพันธ์จะต้องมุ่งการทำงานเชิงรุก เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเกิดเหตุการณ์ที่กำลังอยู่ในกระแสความสนใจของสังคม นักประชาสัมพันธ์ต้องแสดงบทบาทในการฉกฉวยโอกาสเพื่อนำเสนอข่าวที่ทันเหตุการณ์ ยกตัวอย่างเช่น ข่าวการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา ซึ่งจุฬาฯได้จัดแถลงข่าวและนำเสนอข่าวอย่างรวดเร็ว โดยคณาจารย์จุฬาฯเป็นแหล่งข่าวที่ดีของสื่อมวลชนในเรื่องนี้ ทั้งนี้จุฬาฯมีของดีมากมายที่สามารถส่งข่าวออกเผยแพร่ทางสื่อมวลชนได้ในหลายรูปแบบ โดยนำเสนอเนื้อหาข่าวที่เหมาะสมกับสื่อแต่ละประเภท


      สำหรับประสบการณ์ที่ผ่านมาในการอ่านข่าวผิดพลาดนั้น คุณหนิง สายสวรรค์กล่าวว่าสามารถเกิดขึ้นได้ในการทำงาน เมื่อเกิดขึ้นแล้วควรมองในมุมบวกโดยให้อภัยตัวเองเป็นลำดับแรก จากนั้นให้เรียนรู้จากความผิดพลาดโดยประเมินว่าความผิดพลาดเกิดจากอะไร ต่อไปต้องทำให้ดีกว่าเดิม ทำทุกสิ่งให้ดีที่สุด พรุ่งนี้จะต้องดีกว่าวันนี้


      คุณปกรณ์ สันติสุนทรกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและเว็บมาสเตอร์เว็บไซต์ Dek-d.com ซึ่งเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีสำหรับนักเรียน นิสิตนักศึกษาผู้นิยมท่องเว็บไซต์ กล่าวว่า เว็บไซต์เด็กดีดอทคอมก่อตั้งมา ๑๕ ปีแล้ว จากการรวมกลุ่มก่อตั้งร่วมกับเพื่อนๆ ๔ คน ปัจจุบันมีทีมงานรวมทั้งสิ้นกว่า ๗๐ คน จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในการทำหน้าที่เป็นเว็บมาสเตอร์พบว่าข่าวการศึกษาในเว็บไซต์มีผู้สนใจเข้ามาชมน้อยเมื่อเทียบกับข่าวประเภทอื่นๆ ผู้ที่เข้ามาอ่านข่าวต่างๆในเว็บไซต์ ส่วนใหญ่มักติดตามอ่านข่าวที่ตนเองมีส่วนร่วม รวมทั้งเป็นข่าวที่อยู่ในความสนใจของกลุ่มเป้าหมายคือวัยรุ่น ดังนั้นข่าวที่ส่งมาประชาสัมพันธ์บนเว็บไซต์จึงควรมีการย่อยข่าวให้สั้น กระชับ มีคำสำคัญที่ต้องการสื่อไปยังกลุ่มเป้าหมาย ปัจจุบันสื่อประเภทต่างๆมีการแบ่งกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ดังนั้นนักประชาสัมพันธ์ในมหาวิทยาลัย จึงควรส่งข่าวให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของสื่อนั้นๆ โอกาสที่ข่าวจะได้รับการเผยแพร่ก็จะมีมากขึ้นไปด้วย


      ความรู้และข้อคิดอันทรงคุณค่าจากสื่อมวลชนทั้งสี่ท่านที่ได้แบ่งปันประสบการณ์ให้แก่ผู้ฟังในงานเสวนา “PR CU พบ GURU ข่าว” ได้จุดประกายความคิดให้พวกเราชาว PR จุฬาฯ ในการทำงานประชาสัมพันธ์เชิงรุกมากยิ่งขึ้น เป็นความรู้จากประสบการณ์จริงที่หาไม่ได้ในตำราเรียนเล่มไหน ขอบคุณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายฯ ประชาสัมพันธ์ จุฬาฯ ที่จัดโครงการดีๆนี้ขึ้นในรั้วจุฬาฯของเรา