“แห้ว”
แห้ว เป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีอายุยืน เหง้าเรียว มีเกล็ดสีซีดห่อหุ้ม เหง้าจะฝ่อหลังจากเกิดหัว หัวรูปไข่หรือกลม หัวแก่มีขนสีเทาปกคลุม ลำต้นเรียวเล็ก แข็ง ช่อดอกคล้ายซี่ร่ม มีริ้วประดับเป็นวงรองรับช่อดอก เป็นที่นิยมบริโภคกันทั่วไป เพราะมีอาหารมีกากใยสูง ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี แก้ร้อนใน ช่วยลดการกระหายน้ำ แต่ “แห้ว” มักไม่นิยมนำมาเป็นของขวัญหรือของฝาก เนื่องจากคำว่า “แห้ว” มีความหมายอีกนัยยะหนึ่งว่า ความไม่สมหวัง หรือการพลาดจากสิ่งที่หวัง.........
เมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีผู้พยายามจะเปลี่ยนชื่อเรียกของพืชชนิดนี้จาก “แห้ว” เป็น “สมหวัง” เพื่อหวังให้พืชชนิดนี้ได้รับความนิยมและสามารถยกระดับเป็นพืชเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ชื่อ สมหวัง ก็ไม่ได้นำมาใช้อย่างแพร่หลายเท่าใด แม้จะมีการรณรงค์ผ่านสื่อและโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่งบริษัทผลิตพืชและผลไม้แปรรูปยี่ห้อดังเปลี่ยนฉลากของแห้วกระป๋อง มาเป็นสมหวังในน้ำเชื่อม ก็ยังไม่สามารถเพิ่มยอดขายในช่วงเทศกาลสำคัญๆได้เท่าที่ควร .....ท่านทั้งหลายสงสัยกันหรือไม่ว่า ความหมายในเชิงลบของคำว่า “แห้ว” มันมีที่มาจากอะไร และทำไมมันจึงติดตรึงอยู่ในมโนสำนึกของเรายาวนานขนาดนี้ .......
ความหมายแฝงของ แห้ว น่าจะมีที่มาจากหนังสืออ่านเล่นชุด “สามเกลอ” พล,นิกร,กิมหงวน ของ ป.อินทรปาลิต ที่พิมพ์ออกจำหน่ายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 ถึง 2511 มีตัวละครชื่อนาย "แห้ว โหระพากุล" เป็นคนรับใช้อยู่ในบ้านเศรษฐี นายแห้วเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดี แต่นิสัยทะเล้น ทะลึ่ง ตลกโปกฮาและมักทำอะไรที่ผิดพลาดไม่ประสบความสำเร็จอยู่เสมอ จึงอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า “แห้ว” ในความหมายดังกล่าว เนื่องจากหนังสือชุดนี้ได้รับความนิยมยาวนาน และยังมีการนำมาสร้างเป็นภาพยนต์และละครหลายต่อหลายครั้ง...อีกทั้งในปี พ.ศ. 2528 มีรายการโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยม อย่างมากรายการหนึ่ง ชื่อว่ารายการ “เพชฌฆาตความเครียด” เป็นรายการตลก ซึ่งออกอากาศทางช่อง 9 อ.ส.ม.ท. รูปแบบรายการเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มซูโม่สำอาง ซึ่งหนึ่งในนั้นมี “ซูโม่แห้ว” ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งบุคลิกลักษณะของซูโม่แห้ว ก็เป็นแนวตลกอีกเช่นเคย และคำว่า “แห้ว” ก็ถูกนำมาใช้แทนความหมายของความผิดหวังอย่างแพร่หลายตั้งแต่ช่วงนั้นเป็นต้นมา
แต่หากมองในแง่ของสรรพคุณและประโยชน์ของแห้ว....ผู้เขียนคิดว่า ท่านทั้งหลายไม่ควรมองข้ามเลยทีเดียว เพราะเป็นของที่หาทานง่ายและราคาถูก แต่หากจะให้เปิดใจยอมรับนำไปเป็นของขวัญของฝากก็คงยังต้องอนุญาตเก็บไว้เป็นทางเลือกอีกสักพักก่อน เนื่องจากผู้ให้ให้ด้วยเจตนาดีมองในด้านคุณประโยชน์ที่มากมาย....แต่ในความรู้สึกของผู้รับ ผู้เขียนเองก็ไม่แน่ใจเช่นกัน....เพราะคนไทยเรายังมีความเชื่อในเรื่องของ “ชื่อ” ที่เป็นมงคลอยู่นั่นเอง
อ้างอิงข้อมูล : http://th.wikipedia.org/wiki
กนกวรรณ ยิ้มจู
นักประชาสัมพันธ์
ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ